รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในระยะหลังคลอด
มารดาจะมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเครียดหรืออาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากมารดามีอาการเจ็บปวดระหว่างการคลอด
มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและระบบฮอร์โมน มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียจากการคลอด ซึ่งสาเหตุต่าง
ๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อสภาวะทางด้านจิตใจของมารดา ซึ่งมีการศึกษาพบว่า
การที่มารดาให้ลูกกินนมแม่จะช่วยลดภาวะเครียดและอาการซึมเศร้าของมารดาลงได้
โดยยิ่งให้ลูกกินนมแม่นานยิ่งสัมพันธ์กับการลดภาวะเครียดและอาการซึมเศร้ายิ่งมาก1 ในทางกลับกัน หากพบว่ามารดามีภาวะเครียดหรือซึมเศร้าจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ดังนั้น
การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยให้สุขภาวะทางอารมณ์ของมารดาดี
และเมื่อมารดามีสุขภาวะทางอารมณ์ดีก็จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ดีด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Shay M, Tomfohr-Madsen L, Tough S. Maternal
psychological distress and child weight at 24 months: investigating indirect effects
through breastfeeding in the All Our Families cohort. Can J Public Health 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
แม้ว่าในสมัยก่อนมักมีความเชื่อว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสัญชาตญาณที่มารดาทุกคนต้องทำได้
แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป แม่ที่เป็นมารดาจะมีความห่างไกลจากประสบการณ์การเห็นแม่ของแม่
คนในบ้าน หรือเพื่อนบ้านให้นมลูก
และการขาดผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้นมลูกอยู่ในครอบครัวที่จะคอยแนะนำและช่วยเหลือมารดาหากมารดามีปัญหาในการให้นมแม่
เนื่องจากการที่เป็นครอบครัวเดี่ยวซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้น
ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น
ความจำเป็นในการสอนมารดาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญ
และจากการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) พบว่า
การสอนมารดาเรื่องาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระหว่างการฝากครรภ์จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในระยะหลังคลอดได้1
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดให้มีการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมระหว่างการฝากครรภ์โดยจัดให้เป็นงานประจำ
เอกสารอ้างอิง
1. Shafaei
FS, Mirghafourvand M, Havizari S. The effect of prenatal counseling on
breastfeeding self-efficacy and frequency of breastfeeding problems in mothers
with previous unsuccessful breastfeeding: a randomized controlled clinical
trial. BMC Womens Health 2020;20:94.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในทารกแรกเกิดจนถึงหกเดือน มารดาควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้น มารดาควรจะให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งหากพิจารณาอาหารที่ทารกควรจะได้รับตามอายุพบว่า ในช่วงอายุที่ทารกควรกินนมแม่ยังขาดความเหมาะสม โดยสาเหตุที่พบจากการรายงานในประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ การที่มารดารู้สึกว่าตนเองมีน้ำนมไม่เพียงพอ อิทธิพลของสมาชิกในครอบครัวที่มีส่วนในการตัดสินใจที่จะเริ่มอาหารเสริม หรือเลือกที่จะเปลี่ยนจากการให้นมแม่เป็นการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ ในมารดาที่มีรายได้สูงหรือรวยจะมีแนวโน้มหรือที่จะเปลี่ยนไปให้ลูกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเร็ว1 ซึ่งหากกลับมามองถึงข้อมูลในประเทศไทย ลักษณะที่พบเทียบเคียงแล้วมีความคล้ายคลึงกัน แต่ยังพบว่าปัจจัยในเรื่องมารดาต้องกลับไปทำงานยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหกเดือนแรกทารกไม่ได้รับการกินนมแม่อย่างเดียว แนวทางที่จะช่วยปรับปรุงให้ทารกได้รับนมแม่ตามวัยที่เหมาะสมจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งทางภาครัฐที่จะออกนโยบายปกป้องและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การรณรงค์ให้ความรู้ที่เหมาะสมกับประชาชน การเพิ่มระยะเวลาการลาพักหลังคลอดเป็นหกเดือนเพื่อเปิดโอกาสให้มารดาสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ร่วมกับการให้ความร่วมมือของภาคเอกชนที่จัดทำสถานที่บีบเก็บน้ำนมในสถานประกอบการ การจัดทำมุมนมแม่ในที่ห้างสรรพสินค้าหรือที่สาธารณะ และการสร้างค่านิยมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เกิดกับคนในสังคมซึ่งส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวที่จะมีบทบาทสำคัญในการเลือกให้ทารกได้กินนมแม่หรืออาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัยของทารก
เอกสารอ้างอิง
1. Sebayang SK, Dibley MJ, Astutik
E, Efendi F, Kelly PJ, Li M. Determinants of age-appropriate breastfeeding,
dietary diversity, and consumption of animal source foods among Indonesian
children. Matern Child Nutr 2020;16:e12889.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
มารดาที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ระยะคลอด จนถึงในระยะหลังคลอดที่มีการให้นมลูก หากพิจารณาถึงข้อมูลการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มนี้จะไม่พบความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งน่าจะเป็นจากการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแล และให้คำปรึกษาที่เหมาะสมเกี่ยวกับโรคเรื้อรังของมารดาและการให้ทารกกินนมแม่ แต่มารดาที่มีโรคเรื้อรังมักจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเร็วกว่ามารดาที่ไม่มีโรคเรื้อรัง1 คำอธิบายในเรื่องนี้น่าจะการที่มารดาที่มีโรคเรื้อรังในระยะหลังคลอดเมื่อมารดาปกติไปติดตามการรักษาโรคเรื้อรัง แพทย์ที่ดูแลอาจจะพิจารณาปรับยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังซึ่งจะเกิดในกรณีที่มารดาได้รับการปรับยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดแก่ทารก ซึ่งหากมีการปรับยาในการรักษาแล้วไม่ได้มีการให้คำปรึกษาในเรื่องการให้ทารกกินนมแม่ได้หรือไม่ หรือมารดาควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการให้นมลูกหลังจากที่มีการปรับยาแล้ว ความวิตกกังวลก็จะเกิดกับมารดา และนำไปสู่การหยุดการให้นมลูก โดยมีการปรับเปลี่ยนไปใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งอาจจะเกิดทั้งกรณีที่ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างเดียว หรือจะมีการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกชั่วคราว หรือในช่วงที่มีการปรับยา ดังนั้น การเอาใจใส่สอบถามมารดาเกี่ยวกับการให้นมบุตรของแพทย์ผู้ดูแลโรคเรื้อรังจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในมารดาที่มีโรคเรื้อรังได้
เอกสารอ้างอิง
1. Scime NV, Patten SB, Tough SC,
Chaput KH. Maternal chronic disease and breastfeeding outcomes: a Canadian
population-based study. J Matern Fetal Neonatal Med 2020:1-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากงานวิจัย ข้อมูลที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนหรือมีหลักฐานจากการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลที่ได้จากการจดจำของมารดา อย่างไรก็ตาม มีหลาย ๆ งานวิจัยที่ศึกษาข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้การจดจำของมารดา คำถามคือ จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หากการถามข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาหลังจากผ่านการคลอดไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งปี มีการศึกษาถึงความถูกต้องของการใช้การจดจำในการให้ข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอดที่สามเดือน รูปแบบของการศึกษาทำโดยการสอบถามข้อมูลมารดาหลังคลอดที่หนึ่งปี และมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการสอบถามมารดาหลังคลอดที่หนึ่งปีกับข้อมูลรายงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มารดารายงานไว้ที่สามเดือนพบว่า ข้อมูลที่ได้จากการจดจำของมารดามีความถูกต้องร้อยละ 77.9 (ความไวร้อยละ 98.3 ความจำเพาะร้อยละ 70.0)1 ซึ่งแม้ว่าจะสามารถยอมรับได้ทางสถิติ แต่จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า “เมื่อเวลาผ่านไป ความถูกต้องของการจดจำจะลดลง ซึ่งควรมีการให้น้ำหนักของข้อมูลที่ได้จากการจดจำลดลงตามระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเมื่อมีการสอบถาม”
เอกสารอ้างอิง
1. Schneider BC, Cata-Preta BO, Graf
DD, et al. Validation of maternal recall on exclusive breastfeeding 12 months
after childbirth. Public Health Nutr 2020:1-7.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)