เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

การกินนมแม่ช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่เพียงพบในวัยผู้ใหญ่แต่ยังมีข้อมูลว่าพบในวัยเด็กด้วย และนิสัยการกินหวานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งการกินนมแม่จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก และยังพบว่าช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็กด้วย1 ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ยังช่วยเรื่องนิสัยการกินที่ดีคือ ลดการกินหวาน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคที่มีผลจากการกินที่ไม่ถูกลักษณะ ได้แก่ กลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เมื่อทารกเจริญวัยขึ้น โดยจะส่งผลต่อคุญภาพชีวิตที่ดีหากไม่มีโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

1.        Spaniol AM, da Costa THM, Bortolini GA, Gubert MB. Breastfeeding reduces ultra-processed foods and sweetened beverages consumption among children under two years old. BMC Public Health 2020;20:330.

ยาที่ใช้ในระหว่างการคลอดบุตรเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่มารดาไปคลอดบุตร ได้รับยาหลากหลายชนิด ยาที่มารดาได้รับระหว่างการคลอดบุตรมีผลเสียต่อการรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ สิ่งที่พบคือ การใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน จะมีการใช้ยาบ่อยในระหว่างการคลอดบุตรและพบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะทราบว่ายามอร์ฟืนจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่แพทย์ยังขาดความตระหนักถึงผลเสียนี้ และไม่ได้มีการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการลดความเจ็บครรภ์ระหว่างการคลอด ซึ่งจะช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีนลงด้วย สำหรับยาอื่น ๆ ที่พบว่ามีการใช้บ่อย ๆ ด้วย ได้แก่ ออกซิโตซิน, lidocaine, ketoprofen และ diclofenac ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การสื่อสารที่เหมาะสมในเรื่องยาที่จะให้แก่มารดาและการสร้างความตระหนักในการใช้ยาให้แก่แพทย์จึงเป็นสิ่งที่ควรมีการให้ความสำคัญ เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Silveira MPT, Possignollo J, Miranda VIA, et al. Breastfeeding and risk classification of medications used during hospitalization for delivery: 2015 Pelotas Birth Cohort. Rev Bras Epidemiol 2020;23:e200026.

ใครมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมีคำถามถึงว่า “ใครมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก?” อาจมีคำตอบหลายคำตอบที่ตอบมา ได้แก่ แพทย์ผู้ดูแลการคลอด พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด หรืออาจจะมีตำตอบว่าเป็นตัวมารดาเอง แน่นอนว่าคำตอบที่ตอบมามีส่วนถูกทั้งสิ้น แต่มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก คือ พยาบาลผู้ช่วยในการดูแลการคลอด1 เนื่องจากจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับมารดาในระยะคลอดและหลังคลอดในช่วงแรกด้วย ดังนั้น การที่อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกในประเทศไทยยังมีอัตราที่ต่ำ ควรเน้นที่จะมีการทำความเข้าใจ และช่วยพยาบาลในการลดหรือแก้ปัญหาอุปสรรคที่จะขัดขวางการดำเนินการช่วยเหลือให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก ซึ่งการช่วยแก้ปัญหาที่ตรงจุด จะช่วยให้อัตราการเริ่มต้นให้ลูกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกเพิ่มขึ้นได้ดี

เอกสารอ้างอิง

1.        Silva LAT, Fonseca VM, Oliveira MIC, Silva KSD, Ramos EG, Gama S. Professional who attended childbirth and breastfeeding in the first hour of life. Rev Bras Enferm 2020;73:e20180448.

การขาดการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเรียนรู้หรือการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากศาสตร์ของความรู้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการให้บริการในวิชาชีพ เมื่อขาดความเชื่อมั่นก็จะเป็นอุปสรรคในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้รับบริการ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลต่อวิชาชีพทุกวิชาชีพรวมทั้งวิชาชีพของทั้งแพทย์และพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่มีความทันสมัย ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการโดยไม่เว้นแม้แต่ในการให้การดูแลมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะพบว่า หากบุคลากรทางการแพทย์ขาดการพัฒนาความรู้ในวิชาชีพจะเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวด้วย1

เอกสารอ้างอิง

1.            Pemo K, Phillips D, Hutchinson AM. Midwives’ perceptions of barriers to exclusive breastfeeding in Bhutan: A qualitative study. Women Birth 2020;33:e377-e84.

พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กใช้ได้ผลไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้จะมีความดีใจที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดสำหรับอาหารทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 คือ แต่ผลของการบังคับใช้ ยังไม่มีออกมาชัดเจน และขาดการสื่อสารให้คนในสังคมทราบ กฎหมายนี้ออกมาเพื่อควบคุมการใช้การส่งเสริมการตลาดเพื่อขายสินค้าให้แก่มารดาและทารกโดยขาดจริยธรรม หากเรามองดูตัวอย่างจากประเทศบราซิลที่มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาอดอาหารทารกและเด็กเล็กเหมือนกัน มีการศึกษารวบรวมข้อมูลพบว่า มีการฝ่าฝืนกฎหมายถึง 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุดคือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก และความผิดที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ การเสนอส่วนลด และการเสนอเงื่อนไขพิเศษในการจูงใจมารดาและครอบครัว1 ดังนั้น การทำให้เกิดความตระหนักร่วมกันในสังคม จึงเป็นบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบที่จะช่วยสร้างให้เกิดสำนึกในการดูแล ไม่ปล่อยปะละเลย ให้เป็นเพียงหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง สิ่งนี้จะช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Silva KBD, Oliveira MIC, Boccolini CS, Sally EOF. Illegal commercial promotion of products competing with breastfeeding. Rev Saude Publica 2020;54:10.