รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการรุนแรง
ไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ ทางเลือกที่มีการแนะนำ1
ได้แก่
ให้นมแม่จากนมแม่ที่บีบหรือปั๊มนมได้
โดยหากมารดาพอที่จะบีบหรือปั๊มนมให้ลูกได้ ควรดูแลการบีบหรือปั๊มเก็บให้มีความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อ
แล้วนำน้ำนมที่ได้มาป้อนให้ทารกโดยการป้อนด้วยถ้วยหรือป้อนด้วยช้อน การกระตุ้นบีบหรือปั๊มนมแม่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่มารดายังไม่สามารถให้นมแม่จากเต้าได้นั้น
มีความจำเป็นในการคงการสร้างของนมแม่ของมารดาด้วย
ในกรณีที่มารดามีการบีบหรือปั๊มนมเก็บไว้ก่อนหน้าที่จะมีการติดเชื้อโควิด
การนำน้ำนมที่เก็บรักษาแช่เย็นหรือแช่แข็งไว้มาให้กับทารกก็สามารถทำได้
ให้นมแม่จากนมแม่ที่มีการบริจาค
หากในสถานที่ที่มีธนาคารนมแม่ และมีการบริจาคน้ำนมที่เพียงพอ
การให้นมแม่จากแม่จากบริจาคผ่านธนาคารนมแม่สามารถเป็นทางเลือกที่จะให้ทารกได้รับนมแม่
โดยมีการแนะนำให้มีกระตุ้นบีบหรือปั๊มนมแม่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่มารดายังไม่สามารถให้นมแม่จากเต้าเช่นเดียวกัน
เพื่อคงการสร้างน้ำนมของมารดา
ให้นมแม่จากแม่นม
ปัจจุบัน การใช้แม่นมในการให้นมลูกลดน้อยลง แต่ยังอาจมีอยู่ในบางประเทศหรือในบางวัฒนธรรม
ให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก
ซึ่งผู้ที่จะทำการให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกต้องดูแลให้มีความปลอดภัยในการจัดเตรียมนมผงดัดแปลงสำหรับทารก
และควรมีการคำนึงถึงว่า มารดาจะสามารถเข้าถึงหรือปริมาณนมผงดัดแปลงสำหรับทารกควรมีอย่างเพียงพอด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยทั่วไปแล้ว
มารดาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการล้างหรือเช็ดเต้านมทุกครั้งที่ทำการให้นมลูก
บริเวณเต้านมและหัวนมปกติจะอยู่ในร่มผ้าไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะมีการสัมผัสกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค
สำหรับเชื้อที่พบบนผิวหนังมารดาจะเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ทารกจะทำหน้าที่ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกโดยจะไม่เกิดอันตรายแก่ทารก
ดังนั้นในกรณีที่มารดาสงสัยหรือมีการติดเชื้อโควิด 19 หลักในการปฏิบัติ ยังยึดหลักเดียวกัน ยกเว้นกรณีที่มารดามีการไอหรือจามรดบริเวณหน้าอกหรือเต้านม1 การล้างเต้านมด้วยสบู่และน้ำจึงจะมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การทำการล้างเต้านมหรือหัวนมด้วยสบู่และน้ำบ่อย
ๆ จะลดไขที่อยู่บริเวณหัวนม อาจทำให้เกิดการเสียดสีในระหว่างทารกดูดนม ก่อให้เกิดอาการเจ็บและหัวนมแตกตามมาได้
การแนะนำให้มารดาใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์จะช่วยลดการแพร่เชื้อจากการไอหรือจามลง
และช่วยลดความจำเป็นในการที่จะต้องล้างเต้านมและหัวนมก่อนการให้นมลูกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาไม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด 19
มารดาสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ สำหรับการดูแลความสะอาดในการให้ลูกกินนมจากเต้าและการล้างมือก็ควรทำเป็นปกติตามสุขอนามัยเบื้องต้น
หลีกเลี่ยงการเข้าเยี่ยมทารกจากบุคคลอื่นที่ไม่ได้ในครอบครัวหรือบ้านเดียวกัน
ในกรณีที่มารดาสงสัยหรือติดเชื้อโควิด 19 ข้อแนะนำคือ มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ล้างมือบ่อย ๆ
ด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ โดยยังสามารถให้นมลูกอย่างต่อเนื่องได้1 แต่ในกรณีที่มารดาไม่มีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีแต่หน้ากากอนามัยที่ทำเองหรือมีแต่หน้ากากอนามัยผ้า
เนื่องจากยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์
การแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยที่มีอยู่แทนโดยเปลี่ยนบ่อย ๆ หากมารดามีอาการไอหรือจาม
หรือหน้ากากอนามัยชื้นแฉะเป็นเพียงข้อแนะนำจากความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงควรให้คำปรึกษามารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ที่จะได้จากการให้นมแม่ต่อเนื่องเทียบกับผลเสียหรือความเสี่ยงในการติดเชื้อ
และร่วมกันตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อดีและข้อเสียที่มี น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่มีความจำเพาะของข้อมูลที่มีความแตกต่างกัน
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด 19 มารดาจะทำการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อยืนยันผล โดยขณะที่อยู่ในระยะที่สงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19 หรือหลังได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด 19 หากมารดาไม่ได้มีอาการรุนแรง ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว มารดาสามารถจะให้ลูกกินนมแม่ต่อได้ แต่มารดาควรมีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านไปยังทารก โดยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ก่อนการสัมผัสทารก ใส่หน้ากากอนามัยและเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อรู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น โดยหลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้ว ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่1
สำหรับในกรณีที่มารดามีอาการรุนแรง
การดูแลมารดาจำเป็นต้องดูแลที่หอผู้ป่วยวิกฤต มารดาจะมีอาการเหนื่อย หอบ และอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
การให้ลูกกินนมแม่จากเต้าหรือการเก็บนมแม่เพื่อนำมาให้กับลูกจะถูกจำกัดโดยอาการของมารดา
การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจมีความจำเป็น
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าในประเทศไทย ตัวเลขการติดเชื้อโควิด 19 จะต่ำ แต่ในหลายประเทศทั่วโลก อัตราการติดเชื้อโควิด 19 ยังสูง โดยในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อในช่วงที่มีการให้นมบุตร ซึ่งในกรณีที่มีการสงสัยหรือมารดามีการติดเชื้อโควิด 19 โดยไม่มีอาการรุนแรง มารดาต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในการให้ลูกกินนมแม่1 ได้แก่
- มารดาควรล้างมือบ่อย ๆ ในระหว่างวัน โดยล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนการสัมผัสตัวทารก
- มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยในระหว่างการให้นมลูก โดยที่
- ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทันทีที่รู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น
- หลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้วควรทิ้งทันที และไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัย หากจะถอดหน้ากากอนามัยควรถอดจากบริเวณที่คล้องกับใบหู หรือเป็นแบบสายผูก ให้แก้สายผูกจากทางด้านหลัง
- หากมารดามีการไอหรือจามใส่กระดาษชำระ ควรทิ้งกระดาษชำระทันที และควรล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ หลังการไอหรือจาม
- มารดาควรทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสใกล้ตัวด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้แอลกอฮอล์
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)