เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

ทำไมองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในยุคที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าการแนะนำการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยทั่วไปคือ การสวมหน้ากากอนามัย ดูแลสุขอนามัยโดยการล้างมือบ่อย ๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคม แล้วทำไมจึงมีการแนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะมารดาและทารกจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว ขณะที่ทารกกินนมแม่ เหตุผลก็เนื่องจากประโยชน์ที่มารดาและทารกจะได้จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อโควิด 19 และความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับนมผงที่ไม่มีความเหมาะสม ไม่สะอาด และมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ1  ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะสร้างผลเสียและเกิดอันตรายกับทารกมากกว่า โดยข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกตัดสินใจอยู่บนหลักพื้นฐานทางการแพทย์ที่ยึดประโยชน์มากกว่าผลเสียที่จะได้รับนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 ต้องเสริมนมผงให้ทารกหรือไม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในมารดาที่สงสัยหรือมีการติดเชื้อโควิด 19 ที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว หากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การสร้างน้ำนมของมารดาจะตอบสนองและเพียงพอสำหรับความต้องการของทารก จึงไม่มีความจำเป็นที่มารดาต้องเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกเพิ่มขึ้น1 แต่มารดาจำเป็นต้องมีการดูแลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ทารกโดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และทำความสะอาดบริเวณสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อจากการไอหรือจามของมารดา นอกจากนี้ การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเสริมแก่ทารกจะทำให้ทารกกินนมแม่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการสร้างน้ำนมโดยทำให้น้ำนมแม่ลดลงได้ ดังนั้น มารดาควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อลดความวิตกกังวลว่า “การที่มารดาติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้มีผลเสียต่อการลดปริมาณและคุณค่าที่ทารกและมารดาจะได้รับจากการกินนมแม่เลย”

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

การตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 จะเปลี่ยนแปลงการกินนมของทารกหรือไม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

 หากมารดาสงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุมที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อที่จะได้มีการดูแล เฝ้าดูอาการแทรกซ้อนที่อาจมีอาการรุนแรงและป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น แต่การที่มารดามีการตรวจยืนยันผลการติดเชื้อโควิด 19 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อแนะนำในการกินนมของทารก ทารกที่กินนมแม่อยู่แล้วก็สามารถกินนมแม่ได้ต่อเนื่อง1 ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดให้นมแม่ แต่ต้องมีการระวังการแพร่เชื้อไปสู่ทารกคือ มารดาต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และควรทำความสะอาดบริเวณใกล้ที่มารดาอาจไอหรือจามโดยใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ และในกรณีที่มารดามีการตรวจยืนยันพบการติดเชื้อโควิด 19 จะทำให้มีการตรวจติดตามการปลอดเชื้อในมารดา ซึ่งแสดงว่า มารดาได้หายจากการติดเชื้อโควิด 19 แล้วด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

มารดาที่ติดเชื้อโควิด 19 จะกลับมาให้นมลูกได้เมื่อไรหลังหยุดให้นมลูกไป

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดาติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการรุนแรง มักจะไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าไหว ในกรณีที่มารดายังพอจะบีบหรือปั๊มนมให้ลูกได้ จะยังคงมีน้ำนมต่อเนื่องโดยปริมาณไม่ลดลง เมื่อมารดาอาการดีขึ้นและพอที่จะให้นมลูกจากเต้าไหว การกลับมาให้นมลูกจากเต้าจะสามารถทำได้ทันที1 สำหรับมารดาที่มีอาการรุนแรงที่หยุดให้นมลูกและไม่ได้มีการกระตุ้นน้ำนมโดยการบีบหรือปั๊มนมให้ลูก โดยทั่วไปมารดามักอายุไม่มาก การฟื้นตัวใช้เวลาไม่นาน เมื่อมารดามีอาการดีขึ้น การกลับมาให้ลูกมากินนมจากเต้า สามารถทำได้ทันทีที่มารดาพร้อมที่จะให้นมลูกไหว การกระตุ้นให้ลูกกินนมบ่อย ๆ และเกลี้ยงเต้า จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมให้เพียงพอสำหรับลูกโดยไม่จำเป็นต้องเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารก แต่ในกรณีที่มารดาหยุดให้นมลูกไปนานจนน้ำนมหยุดไหล อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อกู้น้ำนมให้กลับมา โดยอาจต้องมีการให้ยากระตุ้นน้ำนมช่วยด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

การปั๊มนมในมารดาติดเชื้อโควิด 19 ต้องดูแลอย่างไร

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดาติดเชื้อโควิด 19 และเลือกที่จะปั๊มนมให้ลูก ในการปั๊มนมนั้น มารดาต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การล้างหรือทำความสะอาดหัวนมหรือเต้านมก่อนการปั๊มนมนั้นไม่จำเป็น ยกเว้นกรณีที่มารดามีอาการไอหรือจามใส่บริเวณเต้านมหรือหัวนม ก่อนการปั๊มนม มารดาควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ การปั๊มนมในแต่ละข้างใช้เวลาราว 10-15 นาทีเหมือนการปั๊มนมปกติ หลังการปั๊มนม ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ปั๊มนม โดยล้างส่วนที่ถอดล้างได้ด้วยน้ำยาล้างจาน และแช่น้ำร้อนหลังจากนั้นนาน 10-15 วินาที1 สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่สามารถถอดล้างได้ ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ โดยการปั๊มนมในช่วงนี้แนะนำให้เก็บแค่เพียงพอกับความต้องการของทารกเท่านั้น ไม่ควรต้องพยายามปั๊มนมให้ได้จำนวนมากและเหลือเก็บ และหากมารดาสามารถบีบน้ำนมด้วยมือได้ การบีบน้ำนมด้วยมือจะมีประสิทธิภาพในการเก็บน้ำนมได้เช่นเดียวกันและยังช่วยลดขั้นตอนในการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ลงด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.