เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

ความสำคัญของการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงก่อนและหลังคลอด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวในช่วงก่อนคลอดในระยะฝากครรภ์โดยจะให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มารดาได้เลือก ตัดสินใจ และมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยหากมารดาไม่ได้รับการให้คำปรึกษาในช่วงก่อนคลอดจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงถึงร้อยละ 90 สำหรับการให้คำปรึกษาในช่วงหลังคลอดก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยพบว่ามีผลดีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า1 จะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงว่า หากมารดามีความรู้ความเข้าใจและมีที่ปรึกษาที่จะคอยช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่พบระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ มารดาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่ตั้งใจไว้มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Awoke N, Tekalign T, Lemma T. Predictors of optimal breastfeeding practices in Worabe town, Silte zone, South Ethiopia. PLoS One 2020;15:e0232316.

การให้ลูกกินนมผงเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กลไกการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ชงใส่ขวดนมนั้นมีความแตกต่างจากกลไกการเกิดนมแม่  การดูดกินนมจากขวดนม ทารกจะออกแรงเพียงเล็กน้อยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของลิ้นเนื่องจากนมจากขวดจะไหลลงรูของจุกนมตามแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่แล้วจากการจับขวดนมที่ตั้งขึ้นเหนือทารก ขณะที่การดูดนมจากเต้า ทารกต้องยื่นลิ้นออกมาเพื่อกดท่อน้ำนมบริเวณลานนม พร้อมกับออกแรงดูดในช่องปากมากกว่า โดยเมื่อมีการไหลของน้ำนม จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อลิ้นเป็นคลื่นจากด้านนอกเข้าไปในปากและลงไปในลำคอทารก ดังนั้น ทารกที่กินนมจากขวดนม อาจจะติดความสบายที่ไม่ต้องออกแรงดูดนม ทำให้เมื่อมารดาให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดแล้ว และกลับมากินนมแม่จากเต้า ทารกอาจเกิดอาการหงุดหงิดจากการที่น้ำนมไหลช้าไม่ทันใจ และเกิดการปฏิเสธนมแม่ได้ ซึ่งมีการพบว่าการให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในช่วงหกเดือนแรก จะมีความเสี่ยงที่ทารกจะหยุดการกินนมแม่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า1 นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงหลีกเลี่ยงการให้ทารกกินนมจากขวดนม และงดหรือจำกัดการขายขวดนมไม่ให้มีในโรงพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

1.        Avila-Ortiz MN, Castro-Sanchez AE, Martinez-Gonzalez EA, Nunez-Rocha GM, Zambrano-Moreno A. Factors associated with abandoning exclusive breastfeeding in Mexican mothers at two private hospitals. Int Breastfeed J 2020;15:73.

การกินนมแม่ช่วยลดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งในวัยทอง


 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดหนาตัว อักเสบ ตีบตัน เกิดการไหลเวียนของเลือดลดลง ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจ และสมองขาดเลือด เกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์และอัมพาต เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิต มีการศึกษาในสตรีวัยทองพบว่า สตรีวัยทองที่มีประวัติกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนจะพบภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งที่ไม่มีอาการน้อยกว่าสตรีวัยทองที่กินนมแม่ในช่วงเวลาที่น้อยกว่า 6 เดือน1 ซึ่งข้อสังเกตนี้น่าสนใจ และควรจะมีการศึกษาต่อยอดในรายละเอียด เพื่อยืนยันผลดีอีกข้อหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวของการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Augoulea A, Armeni E, Paschou SA, Georgiopoulos G, Stamatelopoulos K, Lambrinoudaki I. Breastfeeding is associated with lower subclinical atherosclerosis in postmenopausal women. Gynecol Endocrinol 2020;36:796-9.

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กเล็ก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในกระบวนการกินนมแม่ ทารกจะต้องออกแรงในการดูดนมจากเต้า แม้ว่าจะมีกลไกน้ำนมพุ่งซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนออกซิโตซินที่จะช่วยให้น้ำนมแม่ไหลจากต่อมน้ำนมมาที่ท่อน้ำนมได้ดี การที่ทารกต้องออกแรงในการดูดนมเมื่อทารกหิว จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ทารกควบคุมการกินตามความต้องการของตน เมื่อทารกอิ่มทารกก็จะหยุดออกแรงในการดูดนม กระบวนการนี้จะฝึกให้ทารกรู้จักควบคุมการกินและจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น มีการศึกษาพบว่าทารกที่กินนมแม่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็กได้ร้อยละ 27-371 โดยที่ยิ่งกินนมแม่เหตุผลได้นาน ยิ่งช่วยป้องกันหรือลดการเกิดโรคอ้วนได้มากขึ้น ดังนั้น การให้ลูกกินนมแม่จึงเป็นเสมือนปราการด่านแรกในการป้องกันการเกิดโรคอ้วนที่จะนำไปสู่การเกิดโรคทางเมตาบอลิกอื่น ๆ และเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.        Anderson CE, Whaley SE, Crespi CM, Wang MC, Chaparro MP. Every month matters: longitudinal associations between exclusive breastfeeding duration, child growth and obesity among WIC-participating children. J Epidemiol Community Health 2020;74:785-91.

น้ำนมไม่เพียงพอ เหตุผลที่พบบ่อยในการหยุดให้นมลูก

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เหตุผลในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำนมไม่เพียงพอ1,2 แต่การที่บอกว่ามีน้ำนมไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วพบว่าเป็นเพียงความรู้สึกของมารดามากกว่าจะมีน้ำนมน้อยจริง ดังนั้น การสอนให้มารดารู้จักวิธีประเมินความเพียงพอของน้ำนม หรือมีที่ปรึกษาที่จะช่วยประเมินความเพียงพอของน้ำนมก็จะช่วยลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้ลงได้ โดยทั่วไป หากมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว การสร้างหรือการผลิตน้ำนมแม่จะสร้างเพียงพอกับความต้องการของลูกโดยไม่จำเป็นต้องมีการเสริมนมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรืออาหารเสริมอย่างอื่นในช่วงหกเดือนแรกหลังคลอด การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกหรือให้อาหารเสริมก่อนเวลาอันควรจะทำให้ทารกอิ่มจากการกินนมผงหรืออาหารเสริม ทำให้กินนมแม่น้อยลง และส่งผลให้นมแม่เหลือคั่งค้างในเต้านม ซึ่งจะทำให้การสร้างน้ำนมลดลง และจะนำไปสู่การเกิดน้ำนมแม่ไม่เพียงพอได้             

เอกสารอ้างอิง

1.        Al-Shahwan MJ, Gacem SA, Hassan N, Djessas F, Jairoun AA, Al-Hemyari SS. A Study to Identify the Most Common Reasons to Wean among Breastfeeding Mothers in UAE. J Pharm Bioallied Sci 2020;12:72-6.

2.        Amaral SAD, Bielemann RM, Del-Ponte B, et al. Maternal intention to breastfeed, duration of breastfeeding and reasons for weaning: a cohort study, Pelotas, RS, Brazil, 2014. Epidemiol Serv Saude 2020;29:e2019219.