เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับภาวะโลกร้อน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีส่วนในการลดภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากการลดการใช้วัสดุที่จะเปลี่ยนไปเป็นขยะที่ต้องการการกำจัดทำลาย ไม่ว่าจะเป็นขวดหรือจุกนม ถุงหรือกระป๋องใส่นมผง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีข้อมูลรายงาน คือ ร้อยละ 23  ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 65 เมียนม่าร้อยละ 51 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 33 เวียดนามร้อยละ 241  ดังนั้นสังคมไทยควรจะมีการตื่นตัว ร่วมด้วยช่วยกันในการรณรงค์ปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อช่วยในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของทั้งมารดาและทารก พร้อมกับช่วยรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Zadkovic S, Lombardo N, Cole DC. Breastfeeding and Climate Change: Overlapping Vulnerabilities and Integrating Responses. J Hum Lact 2020:890334420920223.

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดใกล้ครบกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทารกคลอดใกล้ครบกำหนด แม้ส่วนหนึ่งจะสามารถปรับตัวได้และมีความพร้อมเหมือนกับทารกที่คลอดครบกำหนด แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากขาดความพร้อม การให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อย ๆ ในทารกที่คลอดใกล้ครบกำหนดจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาทของทารกและพบว่า จะช่วยเพิ่มทารกมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวสูงขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับทารกที่มารดาไม่ได้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในช่วงหกสัปดาห์หลังคลอด1 ดังนั้น การให้ควรรู้กับมารดาถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ และจัดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อย ๆ โดยจัดให้เป็นกระบวนการที่ทำเป็นประจำในช่วงหลังคลอดก็จะเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Zhang B, Duan Z, Zhao Y, et al. Intermittent kangaroo mother care and the practice of breastfeeding late preterm infants: results from four hospitals in different provinces of China. Int Breastfeed J 2020;15:64.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดอัตราการเสียชีวิตของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

อัตราการเสียชีวิตของทารกจะสูงในช่วง 1-2 ปีแรกในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในหกเดือนแรก หลังจากนั้นนมแม่ก็ยังคงมีประโยชน์ ควรกินนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ซึ่งจากข้อแนะนำนี้พบว่า ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่และทารกที่กินนมแม่น้อยกว่าหกเดือนมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าทารกที่กินนมแม่นาน 1-2 ปีถึง 2.8-5.3 เท่า1 ดังนั้น นี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งควรสนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่นานถึง 2 ปีและควรมีการแจ้งให้มารดาเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญนี้เพื่อคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามคำแนะนำหรือนานขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.            Zhao M, Wu H, Liang Y, Liu F, Bovet P, Xi B. Breastfeeding and Mortality Under 2 Years of Age in Sub-Saharan Africa. Pediatrics 2020;145.

เหตุผลในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่หนึ่งปีหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สาเหตุของการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 1-3 เดือนแรกมักเกิดจากมารดารู้สึกว่านมแม่มีไม่เพียงพอ ส่วนในช่วง 4-6 เดือนมักเกิดจากการกลับไปทำงานของมารดา แต่สำหรับในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีนั้นมีการศึกษาพบว่า เกิดจากการที่มารดาตัดสินใจในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เอง1 อาจเป็นเพราะการขาดความเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลัง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังขาดรายละเอียดของข้อมูลที่มารดาเลือกที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขได้ตรงประเด็น โดยหากเกิดการที่ไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การติดตามให้ความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมก็ควรจะมีการส่งเสริม

เอกสารอ้างอิง

1.            Zitkute V, Snieckuviene V, Zakareviciene J, Pestenyte A, Jakaite V, Ramasauskaite D. Reasons for Breastfeeding Cessation in the First Year after Childbirth in Lithuania: A Prospective Cohort Study. Medicina (Kaunas) 2020;56.

การให้ลูกกินนมแม่มีประโยชน์สำหรับมารดาที่ตั้งครรภ์ไตรมาสสามที่ติดเชื้อโควิด 19

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การระบาดของเชื้อโควิด 19 เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลของคนทั่วโลก เนื่องจากการระบาดก่อให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ป่วยพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยหายใจในกรณีที่ผู้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใกล้เข้าช่วงฤดูหนาวที่การระบาดของเชื้อไวรัสมักจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่การติดเชื้อโควิด 19 แต่การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจจะมีการระบาดไปพร้อม ๆ กัน ในมารดาที่ตั้งครรภ์จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น โดยควรมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่หากมารดาติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สาม เมื่อครบกำหนดและมารดาได้คลอดบุตรแล้ว  แนะนำให้มารดาควรมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เนื่องจากน้ำนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด 19 ที่จะผ่านไปสู่ลูกและช่วยป้องกันลูกจากการติดเชื้อโควิด 19 ได้1 ดังนั้น กรณีนี้การแนะนำ ให้ความรู้ และให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวถึงประโยชน์ของการให้ลูกได้กินนมแม่ ควรมีการเผยแพร่ เพื่อให้มารดามีปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

1.            Breastfeeding and COVID-19. Bull Acad Natl Med 2020.