เรื่องทั้งหมดโดย OB-GYN

ยิ่งมารดาอ้วน ยิ่งมีความเสี่ยงในการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การที่จะบอกว่ามารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้น ต้องดูจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งต้องใช้น้ำหนักของมารดาก่อนการตั้งครรภ์มาคำนวณ ในกรณีที่พบว่ามารดามีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วน จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น1 แต่ปัจจัยที่จะมีผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ การที่มารดามีอายุมากขึ้น หรือมารดาที่เป็นครรภ์หลังจะลดความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร เนื่องจากการที่มารดามีประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน ดังนั้น การส่งเสริมให้ความรู้แก่สตรีที่มีการวางแผนที่จะมีบุตรให้มีการดูแลให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการที่จะป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Claesson IM, Myrgard M, Wallberg M, Blomberg M. The Association Between Covariates, with Emphasis on Maternal Body Mass Index, and Duration of Exclusive and Total Breastfeeding. Breastfeed Med 2020.

การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจมะเร็งเต้านมในสตรีที่ให้นมบุตร

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตร้าซาวด์ (ultrasound) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยการวินิจฉัยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับเต้านมในระหว่างที่มารดาอยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยที่โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถจะใช้ช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ เต้านมอักเสบ ฝีและเต้านม และมะเร็งเต้านม ซึ่งในการให้การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนั้นพบว่า การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจมะเร็งเต้านมในสตรีที่ให้นมบุตรมีประสิทธิภาพดีในกรณีที่คลำพบก้อนที่เต้านมมารดาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมโดยใช้การเอ็กซเรย์เต้านม (mammogram) เนื่องจากจะมีการพบผลบวกลวงเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น การจัดอบรมให้มีการเรียนรู้ศึกษาถึงการใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจเต้านมสำหรับแพทย์ที่มีหน้าที่ในการดูแลมารดาหลังคลอดหรือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการดูแลมารดากลุ่มนี้

เอกสารอ้างอิง

1.        Chung M, Hayward JH, Woodard GA, et al. US as the Primary Imaging Modality in the Evaluation of Palpable Breast Masses in Breastfeeding Women, Including Those of Advanced Maternal Age. Radiology 2020:201036.

ศาสนาอิสลามอาจช่วยในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในคัมภีร์อัลกุลาอานของศาสนาอิสลามจะมีบทที่พูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่การสื่อสารมักเป็นการสื่อสารและอธิบายจะเป็นระหว่างคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสที่จะมีการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องหรืออาจมีคำอธิบายที่จำกัด ทำให้ขาดการเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม การพัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาของบทที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ให้มีการแปลที่เป็นมาตรฐานโดยครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ความเสี่ยงของการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแนวทางการจัดการตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์จนถึงคลอดให้มารดาสามารถเที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น หากชุมชนที่บุคลาการทางการแพทย์ดูแลมีมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม การกระตุ้นให้อิหม่ามที่เป็นผู้ที่ให้ความรู้และให้คำอธิบายในเรื่องศาสนา ได้ช่วยอธิบายในรายละเอียดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสมแก่มารดาในขณะที่เข้าสมรส จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาตั้งครรภ์และคลอด

เอกสารอ้างอิง

1.        Citrakesumasari, Fadhilah, Suriah, Mesra R. Based cultural and religion to education of exclusive breastfeeding for bride. Enferm Clin 2020;30 Suppl 4:127-30.

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การที่ทารกมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้จะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นอันตรายและยังช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันหลังคลอดด้วย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยส่งเสริมการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด1 สำหรับวิธีการคลอด ก่อนหน้านี้มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การคลอดทางช่องคลอดจะช่วยส่งเสริมการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด ขณะที่การผ่าตัดคลอดจะมีผลเสียต่อการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ของทารก แต่มีบางรายงานที่ไม่พบความสัมพันธ์ของการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิดกับวิธีการคลอด จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรช่วยให้ทารกได้รับประโยชน์จาการมีแบคทีเรียในลำไส้ทารกโดยการสนับสนุนให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแนะนำให้มารดามีการคลอดปกติ โดยการผ่าตัดคลอดจะพิจารณาเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Cioffi CC, Tavalire HF, Neiderhiser JM, Bohannan B, Leve LD. History of breastfeeding but not mode of delivery shapes the gut microbiome in childhood. PLoS One 2020;15:e0235223.

ช่วงเวลาที่เงียบสงบหลังคลอดช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดมารดาจะมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการคลอด แม้ว่าการเฝ้าดูแลภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยหลังคลอดจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากมารดามีความเสี่ยงต่ำ เมื่อพ้นระยะเฝ้าระวังเบื้องต้นแล้ว การเฝ้าระวังโดยเว้นระยะห่างขึ้น เปิดโอกาสให้มารดาได้พักผ่อน และให้มารดาได้อยู่กับทารกในบรรยากาศที่เงียบสงบ จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก และช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดแนวทางการดูแลหลังคลอดตามความเสี่ยง และเปิดโอกาสให้มารดาและทารกอยู่อย่างสงบในมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่มารดาและทารก และเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Church L. Quiet Time During Postpartum Hospitalization Can Improve Rest, Bonding, and Breastfeeding. Nurs Womens Health 2020;24:197-201.