การผ่าตัดคลอด อุปสรรคที่พบบ่อยที่ทำให้มารดาเริ่มต้นให้นมลูกช้า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ปัจจุบันในประเทศไทยมีอัตราการผ่าตัดคลอดที่สูง ในสมัยก่อนที่เทคโนโลยีในการดมยาสลบและการผ่าตัดยังไม่ดี การผ่าตัดคลอดจะเป็นเรื่องที่อาจส่งผลทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้สูง เมื่อกระบวนการการดูแลรักษารวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ดีขึ้น มารดาและครอบครัวเริ่มที่จะมีความคิดและค่านิยมว่าการผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกของการคลอดที่สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ โดยเมื่อถึงกำหนดคลอด มารดาจะบอกแพทย์ผู้ดูแลว่า กลัวเจ็บครรภ์คลอด ขอผ่าตัดคลอด หรือต้องการคลอดตามฤกษ์ที่กำหนดไว้ เพื่อให้ทารกที่คลอดออกมาโชคดีหรือมีดวงดี ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด เพราะแม้ในปัจจุบันการผ่าตัดคลอดก็ยังคงมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่าการคลอดปกติตามธรรมชาติและยังมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย โดยมารดาที่ผ่าตัดคลอดจะมีผลทำให้การเริ่มต้นการให้นมลูกช้า (มีการศึกษาพบว่าการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ผ่าตัดคลอดจะช้ามารดาที่คลอดปกติกว่า 2 เท่า)1 ?ซึ่งส่งผลต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรก การกระตุ้นน้ำนมทำได้ช้า และพบมารดาที่ผ่าตัดคลอดมีความรักความผูกพันน้อยกว่ามารดาที่คลอดปกติตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาด้วยการผ่าตัดคลอด บุคลากรทางการแพทย์ควรพยายามปรับเปลี่ยนการดูแลเพื่อส่งเสริมให้มารดาได้เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้เร็วขึ้น เช่น เลือกการให้ยาระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังทำให้มารดาสามารถรู้ตัว สามารถทำการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มกระตุ้นดูดนมได้เร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kambale RM, Buliga JB, Isia NF, Muhimuzi AN, Battisti O, Mungo BM. Delayed initiation of breastfeeding in Bukavu, South Kivu, eastern Democratic Republic of the Congo: a cross-sectional study. Int Breastfeed J 2018;13:6.