หากมีภาวะลิ้นติดไม่ผ่าตัดรักษา เป็นไรไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ทารกที่มีภาวะลิ้นติด หากมีภาวะลิ้นติดเล็กน้อย มักไม่มีปัญหาที่จะทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมหรือทำให้การเข้าเต้าได้ไม่ดี แต่ในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในการดูดนมจากเต้าได้ ซึ่งในรายที่เกิดปัญหาพบว่าจะทำให้มารดาหยุดการให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร สาเหตุก็อาจเกิดจากการเจ็บหัวนมขณะกินนมหรือทารกกินนมได้ไม่ดี มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าสาเหตุของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเป็นจากภาวะลิ้นติด ควรมีการปรับเปลี่ยนท่าการให้นมให้เหมาะสมก่อนเสมอ เนื่องจากสาเหตุอันดับหนึ่งของการเจ็บหัวนมหรือเข้าเต้าไม่ดีเกิดจากการจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสมมากกว่า สำหรับในกรณีที่มารดาตัดสินใจที่จะไม่ทำการผ่าตัดรักษา ข้อเสียคือในกรณีที่มารดามีอาการเจ็บหัวนม มารดาอาจหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควรเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมหรือมีอาการแทรกซ้อนจากหัวนมแตก เต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม หรือในอีกกรณีหนึ่งมารดาเลือกที่จะบีบหรือปั๊มนมแม่ ป้อนนมแม่จากถ้วยหรือใส่ขวดแล้วให้ลูกดูดนมจากขวดแทนการดูดนมแม่จากเต้า วิธีนี้ข้อดีคือทารกจะยังคงได้กินนมแม่ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ปากทารกกว้างขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น ซึ่งมักใช้เวลาราวหนึ่งเดือน มารดาก็จะไม่เจ็บหัวนม การฝึกทารกให้กลับมากินนมแม่จากเต้าก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากป้อนนมทารกจากถ้วย ทารกจะฝึกกินนมจากเต้าได้ง่ายกว่าการที่ทารกได้รับการป้อนนมแม่จากขวด

เอกสารอ้างอิง

1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.