ข้อเท็จจริงในการใช้ยากระตุ้นน้ำนมในระยะแรกหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ก่อนอื่น ควรมาทำความเข้าใจกับการสร้างน้ำนม ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

????? ระยะที่ 1 เริ่มในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ราว 5 เดือน ระยะนี้ต่อมเต้านมจะมีความพร้อมในการสร้างน้ำนม แต่ที่มักไม่พบมีการหลั่งน้ำนมเนื่องจากมารดาจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่สร้างจากรกสูงคอยยับยั้งการหลั่งน้ำนม

ระยะที่ 2 หลังคลอดในระยะแรก ราว 1-3 วันหลังการคลอด เมื่อมีการคลอดรก ระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะลดลงในทันที??? ในขณะที่มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูง และมีปริมาณคอร์ติซอล (cortisol) ที่พอเหมาะ จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างหัวน้ำนม ในช่วงนี้จะมีการเพิ่มของเลือด ออกซิเจน และน้ำตาลมาเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น ร่วมกับในเต้านมเริ่มมีการสร้างและหลั่งน้ำนมออกมา ทำให้มารดาตึงคัดเต้านม การสร้างน้ำนมในระยะนี้จะเป็นหัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง (colostrum) โดยกลไกการสร้างจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่ลดลงเป็นหลัก

ระยะที่ 3 จะเป็นช่วงตั้งแต่ราว 3-7 วันหลังคลอด ระยะนี้ปริมาณน้ำนมจะมีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นโดยการดูดนมและการให้นมจนเกลี้ยงเต้าจะเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการสร้างน้ำนม จากข้อมูลหลักฐานในปัจจุบัน สารที่มีผลยับยั้งการสร้างน้ำนมอยู่ในน้ำนม ได้แก่ โปรตีนเวย์ (whey) ที่ทำหน้าที่ควบคุมเป็นกลไกย้อนกลับ (feedback inhibitor of lactation) หรือทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งการสร้างน้ำนม (lactation inhibitory factor) ในกรณีที่มีน้ำนมอยู่ในเต้านมจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมน้อย และในกรณีที่น้ำนมเกลี้ยงเต้าจะควบคุมให้ผลิตน้ำนมมาก

ยาที่มักใช้ในการกระตุ้นน้ำนม ได้แก่ domperidone ยานี้จะออกฤทธิ์ในการกระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูงขึ้น แต่หากมาดูข้อมูลของระดับโปรแลคตินในช่วงหลังคลอดแล้ว จะพบว่า ?ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในช่วงระยะ 7 วันแรกหลังคลอด หากมารดามีการกระตุ้นให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ จะเท่ากับ 100 ng/ml ซึ่งจะใกล้เคียงกับระดับของฮอร์โมนโปรแลคตินเมื่อได้รับยาในระยะหลังคลอดช่วง 7 วันแรก?1-4 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นในการที่จะใช้ยา domperidone ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ควรแนะนำให้มารดาให้ทารกดูดนมบ่อย ๆ ตั้งแต่วันละ 8 ครั้งขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยานี้ เพื่อให้การเลือกใช้ยาทำได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยา domperidone ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาในมารดาที่เป็นโรคหัวใจ

เอกสารอ้างอิง

  1. Walker M. Breastfeeding Management for the Clinician: Using the Evidence. Boston: Jones and Bartlett, 2006: 63-66.2.
  2. Riordan J. Breastfeeding and Human Lactation, 3rd ed. Boston and London: Jones and Bartlett, 2005: 75-77.
  3. Serri O, Chik CL, Ur E, Ezzat S. Diagnosis and management of hyperprolactinemia. CMAJ. 2003 Sep 16;169(6):575-81.
  4. da Silva OP, Knoppert DC, Angelini MM, Forret PA. Effect of domperidone on milk production in mothers of premature newborns: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. CMAJ. 2001;164:17-21.