ควรทำอย่างไร เมื่อมีการรายงานการตรวจพบโลหะหนักในน้ำนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? น้ำนมแม่มีประโยชน์มากมายในหลาย ๆ ด้าน แต่อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาถึงสารพิษประเภทโลหะหนักที่ตรวจพบในน้ำนมแม่ ซึ่งมีการตรวจพบสารปรอทร้อยละ 100 และสารตะกั่วร้อยละ 71 ในนมแม่ในประเทศเกาหลี1 โดยแม้ว่าระดับที่ตรวจพบส่วนใหญ่ยังอยู่ในค่าที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับมารดาและทารก แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงการสัมผัสและการได้รับสารพิษประเภทโลหะหนักที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โดยวิธีการที่ได้รับมารดาอาจได้รับมาจากการสูดดมอากาศที่ไม่บริสุทธ์มีควันพิษที่มีส่วนผสมของโลหะตะกั่วที่ได้มาจากอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ หรือการที่ได้รับสารปรอทจากการรับประทานอาหารจากปลาหรือสัตว์ที่ได้รับสารปรอทมาจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทลงในแม่น้ำลำคลองหรือลงในทะเล นโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของแต่ละประเทศและของโลกคงต้องร่วมมือกันรณรงค์ ปกป้อง และดูแลมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราให้มีคุณภาพที่ดีและลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษ สำหรับตัวมารดาเอง การให้นมแม่แก่ลูกก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยังเป็นประโยชน์อย่างที่สุด เพราะแม้ว่าการที่จะเลือกเปลี่ยนไปให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่ได้รับสารพิษจากโลหะหนักในเมื่อมีภาวะของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ สัตว์ที่ให้นมก็จะได้รับสารพิษหรือโลหะหนักไปเช่นกัน ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าคือ การเลือกที่อยู่อาศัยที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ คุณภาพน้ำที่สะอาด และเลือกรับประทานอาหารที่มีความเสี่ยงในการปนเปื้อน น่าจะเป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติ

เอกสารอ้างอิง

  1. Park Y, Lee A, Choi K, et al. Exposure to lead and mercury through breastfeeding during the first month of life: A CHECK cohort study. Sci Total Environ 2018;612:876-83.