รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? นมแม่ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของทารกต่อโรคต่าง ๆ ที่มารดาเคยเจ็บป่วยและมีภูมิคุ้มกัน การส่งต่อภูมิคุ้มกันจากมารดาสู่ทารกจะผ่านนมแม่ โดยกระบวนการการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในระบบน้ำเหลืองที่อยู่ในลำไส้ทารก เม็ดเลือดขาวของมารดาที่อยู่ในนมแม่จะสื่อสารส่งผ่านข้อมูลของเชื้อโรคที่มารดาเคยได้รับการกระตุ้นและก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยให้เม็ดเลือดขาวของทารกรู้จักเชื้อโรคเหล่านี้และสามารถสร้างเกราะป้องกันในกรณีที่ได้รับเชื้อโรคเหล่านี้ มีผลทำให้ลดหรือป้องกันการติดเชื้อโรคได้ ขณะเดียวกันการกระตุ้นการทำงานของระบบน้ำเหลืองในลำไส้จะช่วยให้กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เข้าที่ ลดการเกิดภูมิแพ้ และการเกิดการทำงานที่สับสนของภูมิคุ้มกันที่อาจทำให้มีภูมิต้านต่อร่างกายตนเอง ด้วยกลไกเหล่านี้ การเกิดภูมิแพ้ หรือภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจะพบได้น้อยกว่าในทารกที่ได้รับนมแม่ แต่ต้องได้รับนมแม่มากแค่ไหนและนานเท่าไรจึงจะช่วยให้กลไกนี้จัดระบบได้ดี มีการศึกษาถึงผลของการกินนมแม่ต่อการเกิดอาการหอบหืด พบว่าทารกที่กินนมแม่ตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไปจะลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดในเด็กอายุ 3 ปี โดยยิ่งให้นมแม่นานยิ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น1 ดังนั้น ไม่เพียงแค่ การดูแลให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากหกเดือนแรกไปแล้วยังต้องให้นมแม่ต่อเนื่องร่วมกับอาหารตามวัยจนครบสองปีหรือนานกว่านั้น ก็น่าจะได้รับผลดีที่มีประโยชน์จากนมแม่ได้อย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
- Watanabe JI, Tanaka K, Nagata C, Furukawa S, Arakawa M, Miyake Y. Breastfeeding duration is inversely associated with asthma in Japanese children aged 3 years. J Asthma 2017:1-6.