ท่าอุ้มให้นมลูกในท่าไกวเปลประยุกต์

cross cradle position picture

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? ท่าอุ้มลูกไกวเปลประยุกต์ ลักษณะของการอุ้มลูกให้นมจะคล้ายกับท่าไกวเปล คือใช้มือและแขนรองรับใต้ตัวทารก ซึ่งเช่นเดียวกัน มารดาจะรู้สึกมั่นคงในการอุ้มทารก แต่มือที่ใช้รองใต้ตัวทารกจะเป็นมือด้านตรงข้ามกับเต้านม เช่น หากให้ลูกกินนมเต้านมซ้าย จะใช้มือและแขนขวาประคองใต้ลำตัวทารก โดยมือขวาจะประคองบริเวณท้ายทอยหรือลำคอของทารกขณะที่ทารกดูดนมจากเต้านมด้านซ้าย การที่มือของมารดาอยู่ที่คอและท้ายทอยของทารกจะทำให้ควบคุมจังหวะการนำทารกเข้าอมหัวนมและลานนมได้ดี จึงเป็นข้อดีของการจัดท่าให้นมลูกในท่านี้ ซึ่งหากทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวน้อยจังหวะการอ้าปากอมหัวนมและลานนมอาจทำได้ไม่ดี การช่วยควบคุมจังหวะจากมารดาอาจช่วยให้การอมหัวนมและลานนมทำได้ดีขึ้น เนื่องจากท่านี้ใช้มือขวาในการควบคุมขณะให้นมที่เต้านมซ้าย และใช้มือซ้ายควบคุมในขณะให้นมที่เต้านมด้านขวา จึงอาจเรียกท่านี้ว่า ท่าไกวเปลแบบสลับมือ หรือท่าไกวเปลแบบประยุกต์ มารดาจำเป็นต้องเรียนรู้ท่าต่างๆ ในการให้นมลูกให้ได้อย่างเหมาะสมอย่างน้อย 2 ท่าก่อนออกจากโรงพยาบาล จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานกว่า1

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Manolerdtewan W, Ketsuwan S, Sinutchanan W. The Number of Infant Feeding Positions and the 6-Month Exclusive Breastfeeding Rates. J Med Assoc Thai 2015;98:1075-81.