ข้อมูลภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในประเทศไทย

dsc00797

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?จากการศึกษาภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในกลุ่มทารกที่คลอดปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนในประเทศไทย 1649 รายตรวจพบภาวะลิ้นติดร้อยละ 14.9 โดยหากแบ่งอุบัติการณ์ตามรุนแรงเป็นภาวะลิ้นติดเล็กน้อยพบร้อยละ 7.5 ภาวะลิ้นติดปานกลางพบร้อยละ 5.7 และภาวะลิ้นติดรุนแรงพบร้อยละ 1.61 โดยในทารกที่มีภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงมีคะแนนการเข้าเต้า (LATCH score) ที่น้อยกว่า 8 มากกว่าทารกปกติ 1.4 เท่า2 ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาก่อนกลับบ้านจะเป็นสาเหตุอันดับที่สองของการเจ็บหัวนมของมารดาที่สัปดาห์แรกหลังคลอดคือร้อยละ 23.2 (รองจากการจัดท่าหรือเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมที่พบร้อยละ 72.3) โดยทั่วไป การรักษาภาวะลิ้นติดทำได้โดยการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นออก (frenotomy) ให้ทารกสามารถแลบลิ้นออกมาได้ดีขึ้น (ระยะจากจุดยึดติดของพังผืดใต้ลิ้นถึงปลายลิ้นควรจะมีระยะประมาณ 12 มิลลิเมตรเท่ากับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดเล็กน้อยที่ไม่มีผลต่ออาการเจ็บหัวนมของมารดาและไม่มีผลต่อคะแนนการเข้าเต้า) การผ่าตัดสามารถทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยการทำการใช้กรรไกรหรือจี้ไฟฟ้าตัดพังผืดออก ทารกไม่จำเป็นต้องใช้ยาดมสลบ หลังการผ่าตัดทารกสามารถกินหรือดูดนมแม่ได้ทันที และพบว่าอาการเจ็บหัวนมและคะแนนการเข้าเต้าของทารกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ3 ดังนั้น ภาวะลิ้นติดปานกลางและรุนแรงจึงเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่ในการตรวจดูช่องปากทารกทุกราย เนื่องจากมารดาที่มีทารกมีภาวะลิ้นติดมีความเสี่ยงในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสัปดาห์แรกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า4 เหตุผลอาจจะเป็นจากทารกที่ไม่ได้รับการรักษาภาวะลิ้นติด ทำให้มารดาเจ็บหัวนม และการเจ็บหัวนมของมารดาอาจนำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ หัวนมแตก เต้านมอักเสบและฝีที่เต้านมได้ แต่ในมารดาบางคนที่สามารถทนให้นมต่อไปได้ระยะหนึ่งมีรายงานว่าประมาณ 2 เดือน พังผืดใต้ลิ้นจะยึดออกได้ ร่วมกับทารกที่โตมากขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้นจากขนาดของปากที่ใหญ่ขึ้น เมื่อเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของทารกกลุ่มนี้กับทารกปกติไม่พบความแตกต่างกันของระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่5 ทำให้การผ่าตัดรักษาหลังอาจไม่ได้ประโยชน์ สำหรับผลของภาวะลิ้นติดของทารกแรกเกิดในระยะยาว มีรายงานว่าความสัมพันธ์การออกเสียงในการพูด โดยอาจพบมีความยากในการออกเสียงอักษรภาษาอังกฤษ T, D, Z, S, N, J, L, CH, TH, DG และ R 6,7 แต่ไม่ได้พบว่าเป็นสาเหตุของการพูดช้า6

เอกสารอ้างอิง

  1. Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.
  3. Wongin S, Puapornpong P, Baiya N, Panwong W. Comparison of efficacy of breastfeeding in tongue-tie newborns before and after frenotomy. J Med Health Sci 2017 (in press).
  4. Ricke LA, Baker NJ, Madlon-Kay DJ, DeFor TA. Newborn tongue-tie: prevalence and effect on breast-feeding. J Am Board Fam Pract 2005;18:1-7.
  5. Buryk M, Bloom D, Shope T. Efficacy of neonatal release of ankyloglossia: a randomized trial. Pediatrics 2011;128:280-8.
  6. Lalakea ML, Messner AH. Ankyloglossia: does it matter? Pediatric Clinics of North America 2003;50:381-97.
  7. Chaubal TV, Dixit MB. Ankyloglossia and its management. J Indian Soc Periodontol 2011;15:270-2.