รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? อาการเจ็บหัวนมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในสตรีให้นมบุตร ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ เต้านมอักเสบ และฝีที่เต้านม อุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมขึ้นอยู่กับนิยามของการเจ็บหัวนมและช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แต่หากยึดนิยามของการเจ็บหัวนมที่บ่อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งของการให้นมในแต่ละวัน และนานจนถึงปลายสัปดาห์แรก จะพบอุบัติการณ์ของการเจ็บหัวนมในประเทศไทยราวร้อยละ 10 สำหรับสาเหตุของการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70 เกิดจากการจัดท่าและเข้าเต้าไม่เหมาะสม พบประมาณร้อยละ 20 เกิดจากภาวะลิ้นติดของทารก ที่เหลือเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้แก่ น้ำนมมากเกินไป การเอาใจใส่และให้การดูแลแก้ไขการเจ็บหัวนมตั้งแต่ปลายสัปดาห์แรกหลังคลอดจะแก้ไขปัญหาการเจ็บหัวนมของมารดาได้ส่วนใหญ่ภายใน 1 สัปดาห์และทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์1 ซึ่งหลังจากการแก้ไขแล้ว ไม่พบความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างกลุ่มที่เคยมีอาการเจ็บหัวนมและกลุ่มที่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม ซึ่งก็คือ การเน้นการเอาใจใส่ดูแลปัญหาของมารดาและทารกตั้งแต่สัปดาห์แรก ยังถือว่าเป็นสัปดาห์ทองในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
- Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017.