รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ขณะที่มารดาให้นมลูก จะมีการกระตุ้นฮอร์โมนที่สำคัญสองตัว ได้แก่ ออกซิโตซิน และโปรแลคติน ฮอร์โมนโปรแลคตินจะช่วยในการสร้างน้ำนม ขณะที่ฮอร์โมนออกซิโตซินจะช่วยในการหลั่งน้ำนม นอกจากนี้ ฮอร์โมนออกซิโตซินยังออกฤทธิ์ลดความเครียดและช่วยลดอาการซึมเศร้าของมารดาได้ มีการศึกษาโดยการตรวจระดับฮอร์โมนออกซิโตซินพบว่า ในขณะที่ให้นมลูกและหลังให้นมลูกราวครึ่งชั่วโมง ฮอร์โมนออกซิโตซินจะมีระดับที่สูงขึ้น เมื่อใช้แบบทดสอบวัดค่าความเครียดของมารดาพบว่าลดลงสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนออกซิโตซิน1 ดังนั้น จากการศึกษานี้น่าจะช่วยอธิบายการที่มารดาให้นมลูกแล้วช่วยป้องกันหรือลดการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินนี้ ทางการแพทย์ถือว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ซึ่งมารดาจะมีฮอร์โมนหลั่งจากการกระตุ้นดูดนมของลูก ส่งผ่านความรักจากแม่ผ่านน้ำนมสู่ลูก ขณะเดียวกันในทางกลับกัน มารดาก็ได้รับความสุขจากการผ่อนคลายความตึงเครียดที่ได้จากการได้รับการกระตุ้นจากการดูดนมของลูกซึ่งช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความรักนี้ให้กับมารดา ดังนั้น จึงสมชื่อกับฮอร์โมนแห่งความรักที่ให้ประโยชน์กับทั้งแม่และลูก
เอกสารอ้างอิง
- Niwayama R, Nishitani S, Takamura T, et al. Oxytocin Mediates a Calming Effect on Postpartum Mood in Primiparous Mothers. Breastfeed Med 2017.