การดื่มเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร

IMG_1732

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ในยุคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง สภาวะของสังคมกดดันให้มารดาต้องออกไปทำงานมากขึ้น ไม่ได้อยู่เป็นแม่บ้านอย่างเดียวเหมือนในยุคก่อน เมื่อมารดาต้องทำงาน อาจมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ความเคยชินหรืออาจได้รับผลจากการตลาดสื่อโฆษณา เรื่องเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีเรี่ยวแรงในการทำงาน รวมทั้งสามารถดูแลงานบ้านและให้นมบุตรได้ การใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตรนั้น ก่อนอื่นต้องทราบว่าส่วนประกอบของเครื่องดื่มเหล่านี้ประกอบด้วยสารใดๆ บ้าง โดยทั่วไป จะมีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ในส่วนผสมที่สูง อาจมีคาเฟอีนหรือสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ บางตัวที่ไม่ทราบรายละเอียดของสารประกอบที่ออกฤทธิ์ในสมุนไพรเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ารใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอาจมีผลเสียต่อทารกได้จากการได้รับคาเฟอีน ที่จะทำให้ทารกกระสับกระส่าย หงุดหงิด ไม่ยอมนอน หรือมีผลเสียจากการได้รับวิตามินหรือเกลือแร่ในขนาดที่สูงเกินไป หรืออาจได้รับผลเสียจากสมุนไพรที่ไม่ทราบส่วนประกอบที่แน่ชัด1 จึงมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มให้พลังงานในระหว่างการให้นมบุตร นอกจากนี้ การจัดสรรแบ่งบันงานบ้านในครอบครัวในยุคคุณแม่ทำงาน อาจช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้า ทำให้มารดาสามารถให้นมลูกด้วยความผ่อนคลาย ปราศจากความกังวลที่ส่งผลต่อการไหลและความเพียงพอของน้ำนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Thorlton J, Ahmed A, Colby DA. Energy Drinks: Implications for the Breastfeeding Mother. MCN Am J Matern Child Nurs 2016;41:179-85.