เทคนิคในการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม

IMG_9417

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? วิธีการปั๊มนมด้วยเครื่อง มารดาควรทราบเกี่ยวกับชิ้นส่วนของเครื่องปั๊มนมเป็นอย่างดี สำหรับเทคนิคในการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม มีขั้นตอนดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนการปั๊มนม เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั๊มนมที่พร้อมทำความสะอาดแล้วตามสลากประกอบการใช้
  • มารดาควรนึกถึงภาพทารกและการให้นมทารก อาจใช้ภาพถ่าย การบันทึกเสียงหรือผ้าที่ใช้ห่อตัวทารกเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลของน้ำนม
  • นวดเต้านมจากด้านนอกเข้าหาหัวนม อาจใช้ผ้าอุ่นประคบราว 5 นาทีเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลเวียนได้ดี
  • ประกบที่ปั๊มนมกับเต้านม โดยหัวนมควรใส่เข้าไปในที่ดูดหัวนมได้สะดวก ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป เปิดเครื่องปั๊มหากเป็นเครื่องปั๊มอัตโนมัติ โดยหากสามารถปรับแรงดูดได้ มารดาไม่ควรรู้สึกเจ็บขณะที่เครื่องปั๊มออกแรงดูด แต่หากเป็นเครื่องปั๊มที่ใช้แรงบีบมือ มารดาควรออกแรงบีบให้เกิดแรงดูดที่พอเหมาะ เพราะหากดูดแรงเกินไป หรือใส่ที่ประกบหัวนมไม่เหมาะสม เต้านมจะเกิดการบาดเจ็บ เกิดเต้านมอักเสบได้ ขณะใช้เครื่องปั๊มนมมารดาอาจนวดบริเวณเต้านมร่วมด้วยเพื่อช่วยในการระบายน้ำนมได้
  • กระบวนการปั๊มนมในแต่ละเต้าใช้เวลาราว 10 นาที แต่หากเป็นเครื่องปั๊มที่สามารถปั๊มนมจากทั้งสองเต้าได้ จะลดเวลาการปั๊มนมจากทั้งสองเต้าลง
  • เก็บน้ำนมจากภาชนะใส่ถุงเก็บน้ำนม ควรเขียนชื่อของมารดา วันที่ที่เก็บ เพื่อความสะดวกในการเลือกนำมาใช้ และความปลอดภัยในการเก็บรักษา จากนั้นเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น แต่หากไม่มีตู้เย็น สามารถใส่ในกระติกหรือกระเป๋าเก็บความเย็นที่ใส่น้ำแข็งไว้ขณะที่อยู่ที่ทำงานหรือต้องเดินทาง แล้วนำกลับบ้านหลังเลิกงาน

หมายเหตุ เครื่องปั๊มนมปกติที่ใช้ส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับมารดาที่ใช้เพียงคนเดียว ยกเว้นเครื่องปั๊มนมที่ใช้โรงพยาบาลที่มีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ระหว่างมารดาแต่ละคน การเพาะเชื้ออุปกรณ์ในการใช้เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของมารดาแต่ละคน ปกติไม่มีความจำเป็น และมารดาควรระลึกไว้เสมอว่า การกระตุ้นดูดนมที่ดีที่สุดคือ การให้ทารกดูดกระตุ้นโดยตรงจากเต้า

เอกสารอ้างอิง

  1. The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physician. 2nd 2014.