ลักษณะหัวนมมารดามีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

breast stimulation2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ในการเข้าเต้าดูดนมของทารก ทารกจะอมหัวนมและลานนมเข้าไปในปาก ใช้ลิ้นที่ยื่นออกมากดไล่น้ำนมในท่อน้ำนมที่ลานนมโดยกดเข้ากับเพดานปาก แรงดูดของทารกร่วมกับกลไกน้ำนมพุ่ง (oxytocin reflex) จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ดี ทารกดูดและกลืนน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ทารกมีหัวนมที่มีลักษณะหัวนมบอด แบนหรือสั้น อาจจะทำให้การอมหัวนมและลานนมในทารกบางรายอาจเลื่อนหลุดได้ง่าย และในกรณีที่ลักษณะหัวนมใหญ่ บวมและยาวก็อาจจะทำให้ทารกอมได้เฉพาะหัวนมโดยอมไม่ถึงลานนม การเข้าเต้าดูดนมอาจทำได้ยากขึ้น1 อย่างไรก็ตาม ทารกส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นปัญหากับลักษณะหัวนมของมารดา ทารกจะเรียนรู้และปรับตัวในการเข้าเต้า ในกรณีที่เป็นปัญหาในการเข้าเต้าได้ยาก อาจต้องใช้การป้อนนมจากการบีบหรือปั๊มนมในระยะแรก เมื่อทารกโตขึ้น อ้าปากได้กว้างขึ้น อมหัวนมและลานนมได้ลึกขึ้น จะสามารถเอาชนะอุปสรรคในเรื่องลักษณะหัวนมของมารดาได้ หากบุคลากรทางการแพทย์ได้อธิบายให้มารดาเข้าใจถึงเรื่องนี้ มารดาลดความวิตกกังวลลง ความมั่นใจที่จะคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมากขึ้น

? ? ? ? ? ?ในประเทศไทย ความเชื่อเรื่องลักษณะของหัวนมที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีอยู่อย่างแพร่หลายและมีการศึกษาวิจัยถึงเรื่องความยาวปกติ ความยาวหัวนมที่สั้นและลักษณะของหัวนมที่มีผลต่อการเข้าเต้าและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลายการวิจัย2-4 แต่ต้องจำไว้เสมอว่า จะมีทารกเพียงบางส่วนเท่านั้นที่อาจจะเข้าเต้าได้ยากขึ้นในระยะแรก ดังนั้น การไม่ไปตีตราว่ามารดามีปัญหาเรื่องหัวนมจนทำให้มารดาเชื่อว่าตนเองมีปัญหาจนให้นมไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ การเอาใจใส่ติดตามในการเข้าเต้าของมารดาและทารกในแต่ละคู่จนกระทั่งมารดาให้นมได้อย่างมั่นใจก่อนกลับบ้านในมารดาหลังคลอดทุกรายเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยหากมารดายังเข้าเต้าไม่ได้ดีและจำเป็นต้องอนุญาตให้กลับบ้าน การนัดติดตามดูอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์แรกเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่งยวด ซึ่งในสัปดาห์แรกเป็นเสมือนสัปดาห์ทองในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd The American Academy of Pediatrics 2016.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
  3. Chanprapaph P, Luttarapakul J, Siribariruck S, Boonyawanichkul S. Outcome of non-protractile nipple correction with breast cups in pregnant women: a randomized controlled trial. Breastfeed Med 2013;8:408-12.
  4. Thanaboonyawat I, Chanprapaph P, Lattalapkul J, Rongluen S. Pilot study of normal development of nipples during pregnancy. J Hum Lact 2013;29:480-3.