รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? โดยทั่วไป มารดาจะได้รับการดูแลโดยมีการให้ธาตุเหล็กเสริมระหว่างช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งการเสริมธาตุเหล็ก มารดายังมีความจำเป็นต้องได้รับอย่างต่อเนื่องในขณะมารดาให้นมบุตร โดยบางครั้ง การให้การดูแลหรือเอาใจใส่ในการแนะนำเรื่องอาหารหรือการเสริมวิตามินหรือแร่ธาตุในมารดาหลังคลอดมักถูกละเลย เนื่องจากอาจเป็นรอยต่อของการดูแลจากสูติแพทย์ไปที่กุมารแพทย์ หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีการสอบถามถึงการกินอาหารที่เหมาะสมหรือการเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่มารดาควรได้รับ อาจส่งผลต่อความครบถ้วนของสารอาหารที่มีในนมแม่ได้ นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารบางชนิด ได้แก่ ไอโอดีน และกรดโฟลิค การให้สารเหล่านี้เสริมแก่มารดาจะมีความจำเป็น และต้องมีการเน้นย้ำให้มีการให้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมารดาหยุดให้นมบุตรด้วย
? ? ? ? ? ในประเทศไทย นอกจากการเสริมธาตุเหล็กแล้ว ควรมีการเสริมแคลเซียมให้มารดาด้วย เนื่องจากมารดาต้องการแคลเซียมขณะให้นมบุตรสูงขึ้นโดยมีความต้องการวันละ 1500 มิลลิกรัม แต่เนื่องจากแคลเซียมที่ได้รับจากอาหารปกติที่คนไทยรับประทาน จะได้รับแคลเซียมจากอาหารราว 400 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรมีการแนะนำเรื่องอาหารที่มีแคลเซียมสูงร่วมกับการเสริมแคลเซียมเสริมในขณะที่มารดาให้นมบุตร ซึ่งพบว่ามารดาที่ให้นมบุตรอาจมีการสูญเสียมวลกระดูกได้ร้อยละ 3-5 แต่มวลกระดูกจะกลับมาสู่ภาวะปกติราวหกเดือนหลังจากหยุดการให้นมลูก หากมารดามีการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.