ทารกกินนมแม่แล้วมีลมในท้องมากเกิดจากอะไร

IMG_0687

??????????????? รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ในทารกที่กินนมแม่ หากทารกมีอาการแน่นท้อง ผายลมบ่อย ไม่สบายตัว สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือ การเข้าเต้าและการดูดนมของทารกทำได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากทารกเข้าเต้าได้ไม่ดีหรือดูดลมเข้าไปมากระหว่างการกินนมแม่ ทารกจะมีอาการแน่นท้อง ซึ่งการอุ้มพาดบ่าหรือจับทารกเรอจะช่วยลดอาการได้ สำหรับสาเหตุอื่นที่ทำให้ทารกแน่นท้องหรือผายลมบ่อย อาจเกิดจากการที่มารดารับประทานอาหารที่ทำให้เกิดลมมาก ได้แก่ หัวหอม บร็อคคอลี่ กะหล่ำปลี ลูกพรุน ถั่ว แอปริคอต และช็อคโกแลต หรือการที่ทารกกินนมแม่และได้เฉพาะส่วนของน้ำนมส่วนหน้า (foremilk) มากเกินไป การที่มารดากินอาหารชนิดที่ทำให้เกิดลมในท้องมาก สารอาหารจะผ่านไปในน้ำนม และทำให้ทารกเกิดลมในท้องมากเช่นเดียวกัน การหลีกเลี่ยงไม่กินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างเดียวกันมากจนเกินไปจะสามารถช่วยลดอาการได้ สำหรับทารกที่กินนมแม่ในน้ำนมส่วนหน้ามาก จะมีอาการถ่ายและผายลมบ่อย อุจจาระสีเขียวและเป็นฟอง ในกรณีนี้อาจเกิดจากทารกกินนมได้ไม่นานแล้วหลับ และครั้งต่อไปมารดาให้นมจากเต้าอีกข้างซึ่งจะทำให้ทารกได้รับเฉพาะน้ำนมส่วนหน้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีน้ำตาลกาแลคโตสสูง ทำให้มีการขับถ่ายได้บ่อยๆ น้ำดีที่ออกมากับอุจจาระยังไม่ได้ถูกย่อยโดยแบคทีเรีย ทำให้อุจจาระมีสีเขียว การดูแลหรือช่วยเหลือในกรณีนี้มารดาให้กระตุ้นทารกที่ดูดนมแล้วหลับให้ดูดนมได้เต็มที่เกลี้ยงเต้า ซึ่งจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมส่วนหลังที่มีไขมันมากกว่า ทารกจะอิ่มนาน และไม่ขับถ่ายบ่อยจนเกินไป หรืออาจใช้การบีบน้ำนมด้วยมือหรือปั๊มนมส่วนหน้าออกก่อนในกรณีที่น้ำนมมามาก โดยบีบหรือปั๊มนมออกก่อน 5 นาทีก่อนการให้ทารกกินนมก็จะทำให้ทารกได้กินน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งจะช่วยลดอาการถ่ายและผายลมบ่อยลงได้ นอกจากนี้ การให้ทารกได้อาบน้ำอุ่น จะช่วยให้ทารกสบายตัว ลดอาการแน่นท้องและผายลมได้ดีขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.