รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?กลุ่มอาการดาวน์เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทารกจะมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาต่ำ มีความผิดปกติในช่องปาก คือ ปากเล็ก ลิ้นจะคับแน่นยื่นออกมา และมีกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ ความผิดปกติของหัวใจ ความผิดปกติของกระเพาะหรือลำไส้ โดยอาจมีส่วนของกระเพาะที่อุดตันหรือมีลำไส้ที่บีบแคบ (microcolon หรือ Hirschsprung disease) มารดาหรือผู้ดูแลจำเป็นต้องทราบความผิดปกติของทารกที่มีทั้งหมด เพื่อการวางแผนการให้นมที่เหมาะสม นอกจากนี้ ในทารกกลุ่มอาการดาวน์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อที่หู มีพัฒนาการทางด้านการพูดและภาษาช้าด้วย ดังนั้น การที่ให้ทารกได้รับนมแม่จะเป็นผลดีในด้านการป้องกันการติดเชื้อ การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางระบบประสาทและการรับรู้ของทารกให้ดีขึ้น การที่มารดาได้พูดคุยกับทารกขณะกินนมจะช่วยพัฒนาการทางด้านภาษา อย่างไรก็ตาม ทารกเหล่านี้จะมีความยากลำบากในการให้นมแม่ โดยอาจจะเข้าเต้าได้ไม่ดีจากการที่มีปากเล็กและลิ้นยื่นออกมา แรงในการดูดนมอาจมีน้อยและอาจดูดนมได้ไม่นานจะมีอาการเหนื่อย การฝึกฝนจำเป็นต้องประเมินทารกว่าสามารถเข้าเต้าและดูดนมจากเต้าได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ ต้องมีการประเมินว่าทารกสามารถดูดนมได้เพียงพอหรือไม่ มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์หรือไม่ หากทารกเหนื่อยและดูดนมได้ไม่นาน การให้นมบ่อยๆ ร่วมกับการอาจมีการป้อนนมเสริมโดยอาจใช้สายยางต่อหลอดฉีดยาช่วยให้นมแก่ทารกอาจจำเป็น สำหรับทารกที่ไม่สามารถเข้าเต้าได้ในระยะแรก การใช้วิธีการป้อนนมด้วยช้อน หรือป้อนนมด้วยถ้วยก่อน การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อบ่อยๆ และกระตุ้นนวดทารกจะช่วยได้ โดยเมื่อทารกโตขึ้น ช่องปากกว้างขึ้น แรงในการดูดดีขึ้น ทารกจะสามารถดูดนมจากเต้าได้ด้วยตนเอง สำหรับท่าในการให้นม อาจใช้ท่าที่ใช้มือประคองบริเวณคางหรือแก้มของทารก (Dancer?s hold position) จะช่วยพยุงและทำให้ทารกกินนมได้นานขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.