ทารกกินนมแม่บ่อยมาก ผิดปกติไหม

S__38207879

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ปกติหลังคลอด ทารกจะกินนมแม่วันละ 8-12 ครั้ง หากน้อยกว่า 8 ครั้งถือว่า ทารกอาจมีการกินนมแม่ที่น้อยเกินไป ต้องตรวจสอบการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักทารกหรือการเจริญเติบโตของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ แต่หากทารกกินนมแม่บ่อยกว่าวันละ 12 ครั้ง จะถือว่ากินนมแม่บ่อยมาก สาเหตุอาจเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมทำให้การดูดนมไม่มีประสิทธิภาพ ทารกจะหิวบ่อย หรืออาจเกิดจากการที่ทารกง่วงหลับระหว่างการกินนม ซึ่งทำให้ทารกกินนมได้น้อยและต้องกินนมบ่อยๆ ดังนั้น ในการดูแลเบื้องต้น ควรสังเกตการณ์ให้นมแม่ของมารดา ปรับเปลี่ยนการเข้าเต้าหรือท่าให้เหมาะสม และหากทารกง่วงหลับระหว่างการให้นม อาจจำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ทารกดูดนม โดยการกระตุ้นทารกที่มุมปากหรือบีบนวดเต้านม ทำให้น้ำนมไหลมากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นการดูดนมของทารกได้ หรืออาจจะเปิดผ้าที่ห่อทารกกระตุ้นที่หน้าอกและหลังทารกเพื่อปลุกทารก ทารกจะตื่นและดูดนมได้ดีขึ้น แต่หากหลังจากการดูแลเบื้องต้นแล้ว ทารกเข้าเต้าและดูดนมได้อย่างเหมาะสม และทารกมีน้ำหนักขึ้นหรือการเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ อาจเกิดจากทารกอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ?ทารกยืดตัว (growth spurt)? ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 10 วัน 3 สัปดาห์ 6 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ทารกในช่วงนี้จะกินนมบ่อย อาจจะทุกชั่วโมง การดูแลมารดาอาจเพียงให้ความมั่นใจหรืออธิบายให้มารดาเข้าใจ รู้สึกสบายใจ และไม่ต้องวิตกกังวล ร่วมกับมีการติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกเพื่อยืนยันการวินิจฉัย จะเห็นว่า การที่ทารกกินนมบ่อยมากอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในการกินนมหรือเป็นเรื่องปกติที่ทารกกำลังจะยืดตัว ความรู้และความเข้าใจของมารดาจะทำให้มารดาปฏิบัติตัวและดูแลทารกได้อย่างเหมาะสม

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd?ed. The American Academy of Pediatrics 2016.