มีก้อนที่เต้านมขณะให้นมบุตร อันตรายไหม

IMG_0931

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ระยะหลังคลอดในขณะให้นมบุตร หากมารดาตรวจพบก้อนที่เต้านม โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการตรวจพบมาก่อน สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ ก้อนจากการอุดตันของท่อน้ำนม (plugged duct) หรือเป็นก้อนที่เกิดจากน้ำนมขังเป็นถุง (galactocele) กรณีที่มารดามีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดจากเต้านมอักเสบหรือฝีที่เต้านม

? ? ? ? ? ?กรณีที่เป็นก้อนจากการอุดตันของท่อน้ำนม การดูแลรักษาทำโดยการประคบร้อนก่อนการให้นมหรือการปั๊มนม ร่วมกับทำการนวดตรงบริเวณก้อน กดนวดไล่ตรงบริเวณที่เป็นก้อนไปในทิศทางของหัวนม โดยการทำการกดนวดขณะที่ทารกดูดนมหรือขณะปั๊มนม แนะนำมารดาให้ใส่เสื้อชั้นในที่เหมาะสม ไม่แน่นหรือกดทับขัดขวางการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนม สำหรับการให้เลคซิตินจากถั่วเหลือง (soy lecithin) เพื่อช่วยลดการเกิดการอุดตันของท่อน้ำนม ยังไม่มีรายงานการวิจัยยืนยันผลในการรักษา กรณีที่มารดาได้รับการกระแทกบริเวณเต้านมจนเกิดรอยช้ำเขียว ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของไหลของน้ำนมได้ การรักษาก็ใช้การประคบร้อนและการกดนวดเช่นกัน เพื่อให้ก้อนเลือดที่จับตัวเป็นก้อนมีการดูดซึมเร็วขึ้น เมื่ออาการช้ำเขียวดีขึ้น การไหลของน้ำนมก็จะกลับเป็นปกติ

? ? ? ? ? ?นอกจากนี้ สาเหตุของก้อนที่เต้านมอาจเกิดจากก้อนจากการอักเสบของเต้านมหรือฝีที่เต้านม ซึ่งมักตรวจพบว่ามารดาจะมีอาการไข้ร่วมด้วย สำหรับสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ก้อนเนื้องอกหรือก้อนถุงน้ำชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย (fibroadenoma, papilloma หรือ fibrocystic disease) ก้อนไขมัน (lipoma) หรือที่พบได้น้อยแต่ต้องระมัดระวังคือ ก้อนจากมะเร็งเต้านม ซึ่งพบราวร้อยละ 3 ที่ให้การวินิจฉัยได้ระหว่างการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร ดังนั้น ในกรณีที่ให้การรักษาในสาเหตุที่พบบ่อยแล้วไม่ดีขึ้น ควรระมัดระวังว่าอาจเป็นก้อนเนื้องอกหรือเนื้อร้ายที่ต้องการการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. Bunik M. Breastfeeding telephone triage and advice. 2nd The American Academy of Pediatrics 2016.