รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? การที่ทารกปฏิเสธการเข้าเต้าในข้างใดข้างหนึ่ง ต้องสังเกตว่า ปฏิเสธข้างเดียวกันตลอดหรือไม่ หรือปฏิเสธเต้านมด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้างแล้วแต่ในแต่มื้อ
? ? ? ? ? ?ในกรณีที่ปฏิเสธเต้านมข้างเดียวกันตลอด ให้สังเกตว่า เต้านมด้านที่ทารกปฏิเสธมีความแตกต่างจากข้างที่ทารกยอมดูดนมหรือไม่ โดยอาจจะมีหัวนมบอด หรือหัวนมใหญ่ที่ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ยากกว่า สังเกตท่าของมารดาในข้างที่ให้นมได้กับข้างที่ให้นมไม่ได้ว่า ท่าให้นมของมารดาต่างกันหรือไม่ หากทารกให้นมที่เต้านมด้านซ้ายได้แต่เมื่อสลับหันศีรษะมาอีกด้านแล้วทารกปฏิเสธการเข้าเต้า มารดาอาจจะใช้วิธีให้ทารกอยู่ในลักษณะการเข้าเต้าด้านเดิม โดยเลื่อนเฉพาะตัวทารกจากเต้านมด้านซ้ายมาเต้านมด้านขวา อาจปรับท่าจากท่าอุ้มขวางตักประยุกต์เป็นท่าอุ้มฟุตบอลโดยตัวทารกอยู่ในทิศทางเดิม หากทารกเข้าเต้าได้ อาจมีความผิดปกติของทารกที่ทำให้ทารกเข้าเต้าได้ในลักษณะที่ต้องเอียงด้านใดด้านหนึ่งเข้าเต้า เช่น มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ ช้ำ ไหปลาร้าหัก บาดเจ็บในเส้นประสาทที่แขน (brachial plexus injury) หรือมีความผิดปกติของการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ (torticollis) ซึ่งทารกจะสบายกว่าในการดูดนมในบางท่าหรือบางด้าน หากไม่ดีขึ้น อาจลองปรับเปลี่ยนท่าให้นมเป็นท่าอื่นๆ เช่น ท่านอนตะแคง ท่าฟุตบอล ท่าเอนหลัง ท่านั่งหลังตรง หรือท่านอนคว่ำบนตัวมารดา
? ? ? ? ? ในกรณีที่ทารกปฏิเสธเต้านมข้างใดข้างหนึ่งแล้วแต่ในแต่ละมื้อ หากตรวจสอบแล้วว่าทารกเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ จะเป็นจากการที่ทารกกินนมได้เพียงพอจากเต้านมเพียงข้างเดียว ซึ่งจะเป็นกลไกธรรมชาติที่ทารกจะปฏิเสธเต้านมอีกด้านหนึ่ง โดยอาจจะทำให้มารดาเกิดอาการตึงคัดในเต้านมอีกด้านที่ทารกไม่ยอมดูดนมได้ มารดาจึงควรบีบน้ำนมออก และอาจเก็บสำรองน้ำนมไว้ใช้ได้
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.