รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? เมื่อมารดาทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจต่อไป คือ การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเมื่อมีการตั้งครรภ์และหลังคลอด เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ในไตรมาสสอง ซึ่งต่อมน้ำนมที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณ 3 เซนติเมตรรอบๆ ลานนมจะมีการขยายและเริ่มการมีสร้างน้ำนม หลังคลอดเมื่อฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ลดลง ร่วมกับการดูดนมของทารก จะทำให้น้ำนมหลั่งออกมา ในช่วงระยะตั้งครรภ์และหลังคลอดใหม่ การสร้างน้ำนมจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนและความถี่ในการดูดนมกระตุ้นของทารก แต่หลังจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว การสร้างน้ำนมจะถูกควบคุมโดยการให้ทารกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า ในน้ำนมเองจะมีสารที่ยับยั้งการสร้างน้ำนมอยู่ หากปล่อยให้สะสมไว้ในเต้านมนาน จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น การสร้างน้ำนมจะลดลง การให้น้ำนมได้ระบายออกจะเกลี้ยงเต้าโดยให้ทารกกระตุ้นดูด หรือโดยการบีบหรือปั๊มนมออก จะช่วยให้เต้านมสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น การอธิบายให้มารดาเข้าใจถึงกระบวนการการสร้างน้ำนม และสิ่งที่เป็นตัวควบคุมการสร้างน้ำนม จะทำให้มารดาปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม เมื่อทำการให้นมลูก
จะเห็นว่า ช่วงเวลาที่สำคัญมากที่จะต้องใส่ใจให้มารดาสามารถให้นมลูกได้ คือ ช่วง 1-2 สัปดาห์หลังคลอด เพราะตามปกติ ร่างกายของมารดาจะมีการเตรียมความพร้อมในการสร้างน้ำนมอยู่แล้ว หากมารดาปฏิบัติถูกต้อง โดยให้ทารกเริ่มดูดนมเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด มีการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับมารดา มีการกระตุ้นดูดนมบ่อย 8-12 ครั้งต่อวัน และดูดนมจนเกลี้ยงเต้า น้ำนมจะมีการสร้างเพียงพอและเหลือเก็บ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลให้มารดานำทารกเข้าเต้าและกระตุ้นดูดนมให้ได้ก่อนการกลับบ้าน เพราะหากมารดากลับบ้านไปโดยทารกยังเข้าเต้าและดูดนมไม่ได้ เท่ากับเป็นการสร้างปัญหาและความเครียดให้กับมารดาที่จะถูกกดดันเมื่อกลับไปบ้านแล้วให้นมลูกไม่ได้ ความล้มเหลวในการให้นมแม่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดคนที่จะช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุน โอกาสที่มารดาจะต้องใช้นมผสมจะสูงขึ้น
แต่หากมีความจำเป็นต้องให้มารดากลับบ้าน การรีบนัดติดตามหรือการติดตามเยี่ยมบ้านในสัปดาห์แรกอาจช่วยลดปัญหานี้ได้ การตระหนักรู้ว่า ?มารดาต้องให้นมแม่ได้ก่อนกลับบ้านเป็นประหนึ่งการให้ยาก่อนกลับบ้าน ซึ่งต้องเตรียมยาให้พร้อมก่อนกลับบ้าน? ร่วมกับการติดตามผลของการใช้ยา หนึ่งถึงสองสัปดาห์แรกจึงเป็นสัปดาห์ทองของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เมื่อมารดาเริ่มต้นให้นมลูกได้จะก้าวแรกที่สำคัญของการให้นมแม่ ที่เหลือก็เพียงคำแนะนำในวิธีการบีบเก็บน้ำนมเมื่อมารดาต้องกลับไปทำงานเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
การบรรยาย Breastfeeding and Work-Let?s Make it Work! ของ พญ.นันท์ธิดา ภัทราประยูร ในงานประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 5 วันที่ 2 กันยายน 58