รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ปัญหาการเจ็บหัวนมเป็นปัญหาที่พบบ่อยในระยะหลังคลอด ซึ่งมีผลทำให้มารดาวิตกกังวลและอาจลุกลามเป็นภาวะเต้านมอักเสบได้1 การให้ลูกกินนมแม่ไม่ควรมีอาการเจ็บ ในมารดาบางคนอาจจะเจ็บหัวนมเล็กน้อยขณะเริ่มให้ลูกกินนมใหม่ๆ ภายในสองสามวันแรก จากนั้นมารดาและทารกจะรู้สึกดีขึ้นขณะดูดนม หากอาการเจ็บหัวนมจนกระทั่งมารดาต้องขยับทารกออกจากเต้า หรือมองเห็นการแตกหรือการบาดเจ็บที่หัวนม สิ่งนี้แสดงถึงการมีความผิดปกติ และจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจ
ถ้าทารกเข้าเต้าได้ดีและมีการให้ทารกดูดนมบ่อย มารดาส่วนใหญ่ไม่ควรเจ็บหัวนม สาเหตุของการเจ็บเต้านมที่พบบ่อยสามารถป้องกันได้ การจะให้การวินิจฉัยสาเหตุของการเจ็บหัวนมจำเป็นต้องอาศัยการสังเกตและการซักประวัติเรื่องการเจ็บหัวนม โดยสอบถามมารดาโดยให้มารดารู้สึกอย่างไร หากมารดาเจ็บตอนเริ่มให้นมและค่อยๆ น้อยลงเมื่อทารกกินนมได้ สาเหตุส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการเข้าเต้าหรือการอ้าปากอมหัวนมและลานนมของทารก แต่หากมารดาเจ็บขณะตอนทารกดูดนมและอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นสุดการให้นม อาการที่มารดาบ่งบอกเป็นอาการแสบร้อนหรือปวดจี๊ด สาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อรา Candida abicans มีการศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวทำนายการเจ็บหัวนมของมารดา ได้แก่ การมีการบาดเจ็บที่หัวนมและการตรวจพบเชื้อราที่เต้านมมารดา ที่ทารกหรือในน้ำนมโดยจะมีค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์เท่ากับ 1.87 (95%CI 1.10-3.16) และ 2.30 (95%CI 1.19-4.43) ตามลำดับ2
หนังสืออ้างอิง
- Buck ML, Amir LH, Cullinane M, Donath SM. Nipple pain, damage, and vasospasm in the first 8 weeks postpartum. Breastfeed Med 2014;9:56-62.
- Amir LH, Donath SM, Garland SM, et al. Does Candida and/or Staphylococcus play a role in nipple and breast pain in lactation? A cohort study in Melbourne, Australia. BMJ Open 2013;3.