การพัฒนาการคิดภาระงานและผลิตภาพทางการพยาบาลของคลินิกนมแม่ ตอนที่ 1

ภาวิน พัวพรพงษ์, นงเยาว์ ลาวิณห์

ความสำคัญ

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารตามวัยร่วมกับให้ทารกกินนมแม่ต่อจนกระทั่งถึงสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก ในประเทศไทยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หกเดือนแรกพบร้อยละ 5.4-15.21 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำหนดเป้าหมายของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวร้อยละ 50 การรณรงค์ บริหารจัดการ และจัดโครงสร้างในสถานพยาบาลเพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พื้นฐานของการจัดบริการควรมีการปฏิบัติตามหลักการการดำเนินงานของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกและบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คลินิกนมแม่ เป็นรูปแบบการให้บริการที่จัดเพื่อเอื้ออำนวยต่อการให้คำปรึกษา ดูแลมารดาและทารก  แก้ไขปัญหา อุปสรรคที่พบระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ ในโรงพยาบาลที่สามารถจะจัดตั้งคลินิกนมแม่ได้ คลินิกนมแม่จะถือเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ร่วมกับการเป็นแหล่งการเรียนรู้และฝึกอบรมของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ การจัดบริการในคลินิกนมแม่เป็นการจัดการรูปแบบใหม่ที่มีการให้บริการหลากหลาย ดังนั้น การบริหารจัดการ โดยเฉพาะการคิดอัตรากำลัง ผลิตภาพการพยาบาล และงบประมาณในการดำเนินงาน จึงควรจะมีการพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานการทำงาน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การคิดค่าตอบแทนตามภาระงาน การพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการอัตรากำลังที่เหมาะสม จะลดความเสี่ยงของการให้บริการ และช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย2

เอกสารอ้างอิง

  1. . Knowledge, attitudes and practices regarding breastfeeding support among village health volunteers in Nakhon Nayok, Thailand. . Thai J Obstet and Gynaecol 2016;24:89-96.
  2. . Nursing workload and patient safety–a mixed method study with an ecological restorative approach. Rev Lat Am Enfermagem 2013;21 Spec No:146-54.