การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจร่างกายโดยการสังเกตมองดูที่หัวนมและเต้านมอาจช่วยบอกสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้ หากพบผิวหนังเป็นสีน้ำตาล มีหัวนมแตกเป็นแผล หรือเป็นถุงน้ำใส (milk blebs) หรือเป็นถุงน้ำที่มีสีขาวขุ่นจากการที่มีน้ำนมขังอยู่ด้านใน (milk blisters)  สาเหตุมักเกิดจากการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสม แต่หากผิวหนังสีแดงหรือชมพู เป็นมัน คัน และผิวหนังลอก (ทำให้ไม่พบว่ามีการเข้มขึ้นของผิวหนัง) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans  สำหรับในกรณีที่มารดามีการเจ็บหัวนมหลังจากทารกกินนมและคายหัวนมออก มารดาอาจมีประวัติมีอาการเจ็บหัวนมหลังการอาบน้ำ หรือเมื่อมีอากาศเย็น โดยอาจพบร่วมกับการมีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (lupus erythematosus) โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) โรคหนังแข็ง (scleroderma) และตรวจพบหัวนมมารดามีสีซีดขณะที่มีอาการเจ็บหัวนมที่เกิดขึ้นหลังจากทารกคายหัวนม สาเหตุจะเกิดจาก Raynaud’s phenomenon ซึ่งเกิดจากการหดตัวของเส้นเลือดที่หัวนม ทำให้เกิดการเจ็บหัวนมจากการขาดเลือด อย่างไรก็ตาม ในการให้การวินิจฉัยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องระลึกไว้เสมอว่า การบาดเจ็บของเต้านมจากการเข้าเต้าที่ไม่ดีและสาเหตุอื่นที่ทำให้มารดามีอาการเจ็บหัวนมสามารถเกิดร่วมกันได้ นอกจากนี้ อาการผิดปกติของผิวหนังบริเวณหัวนมสามารถมีความผิดปกติที่คล้ายคลึงกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ได้แก่ หัวนมและเต้านมอาจจะเกิดคัน แสบ มีตุ่มน้ำ และการอักเสบตามแนวของเส้นประสาทที่เกิดจากงูสวัด (Herpes zoster)  ผิวหนังอักเสบ (eczema) ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้ (allergic dermatitis) หรือความผิดปกติของผิวหนังอื่น ๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บหัวนมได้เช่นกัน