การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ป้องกันโรคอ้วนในระดับพันธุกรรม

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัจจุบันมีการศึกษาถึงการแสดงออกของพันธุกรรมผ่านยีน ซึ่งมียีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก ที่ใช้ตรวจสอบหลายตัว ได้แก่ ยีน FTO ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนจากหลายสาเหตุ ยีน CPT1A สัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ (fatty liver) และโรคเบาหวาน และยีน PPAR-α ซึ่งจะสัมพันธ์กับการลดหรือป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีการนำการแสดงออกของยีนมาใช้ในการตรวจสอบทารกที่กินนมแม่ กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก โดยพบว่า ทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก และทารกที่กินนมแม่ร่วมกับนมผงดัดแปลงสำหรับทารก จะมีการแสดงออกของยีน FTO และยีน CPT1A มากกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเมตาบอลิก โรคไขมันในตับ และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และมีการแสดงออกของยีน PPAR-α ต่ำกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงว่ามีการป้องกันการเกิดภาวะน้ำหนักเกินต่ำหรือก็คือเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหนักเกินนั่นเอง1 ดังนั้น สิ่งนี้แสดงถึง “อาหารสำหรับทารกที่แตกต่างกันมีผลต่อการแสดงออกของพันธุกรรมที่แตกต่างกันด้วย” ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยเหนือพันธุกรรมอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนเพิ่มเติมจากการให้ทารกได้กินนมแม่อย่างเดียว

เอกสารอ้างอิง

1.        Cheshmeh S, Nachvak SM, Rezvani N, Saber A. Effects of Breastfeeding and Formula Feeding on the Expression Level of FTO, CPT1A and PPAR-alpha Genes in Healthy Infants. Diabetes Metab Syndr Obes 2020;13:2227-37.