มารดาที่มีโรคเรื้อรังมักจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเร็ว

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มารดาที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ระยะคลอด จนถึงในระยะหลังคลอดที่มีการให้นมลูก หากพิจารณาถึงข้อมูลการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มนี้จะไม่พบความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับมารดาที่ไม่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งน่าจะเป็นจากการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแล และให้คำปรึกษาที่เหมาะสมเกี่ยวกับโรคเรื้อรังของมารดาและการให้ทารกกินนมแม่ แต่มารดาที่มีโรคเรื้อรังมักจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเร็วกว่ามารดาที่ไม่มีโรคเรื้อรัง1 คำอธิบายในเรื่องนี้น่าจะการที่มารดาที่มีโรคเรื้อรังในระยะหลังคลอดเมื่อมารดาปกติไปติดตามการรักษาโรคเรื้อรัง แพทย์ที่ดูแลอาจจะพิจารณาปรับยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรังซึ่งจะเกิดในกรณีที่มารดาได้รับการปรับยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรืออันตรายที่จะเกิดแก่ทารก ซึ่งหากมีการปรับยาในการรักษาแล้วไม่ได้มีการให้คำปรึกษาในเรื่องการให้ทารกกินนมแม่ได้หรือไม่ หรือมารดาควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการให้นมลูกหลังจากที่มีการปรับยาแล้ว ความวิตกกังวลก็จะเกิดกับมารดา และนำไปสู่การหยุดการให้นมลูก โดยมีการปรับเปลี่ยนไปใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งอาจจะเกิดทั้งกรณีที่ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอย่างเดียว หรือจะมีการใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกชั่วคราว หรือในช่วงที่มีการปรับยา ดังนั้น การเอาใจใส่สอบถามมารดาเกี่ยวกับการให้นมบุตรของแพทย์ผู้ดูแลโรคเรื้อรังจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในมารดาที่มีโรคเรื้อรังได้

เอกสารอ้างอิง

1.        Scime NV, Patten SB, Tough SC, Chaput KH. Maternal chronic disease and breastfeeding outcomes: a Canadian population-based study. J Matern Fetal Neonatal Med 2020:1-8.