การให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้การจดจำ เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากงานวิจัย ข้อมูลที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนหรือมีหลักฐานจากการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการยืนยันจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าข้อมูลที่ได้จากการจดจำของมารดา อย่างไรก็ตาม มีหลาย ๆ งานวิจัยที่ศึกษาข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้การจดจำของมารดา คำถามคือ จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หากการถามข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาหลังจากผ่านการคลอดไปแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งปี มีการศึกษาถึงความถูกต้องของการใช้การจดจำในการให้ข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงหลังคลอดที่สามเดือน รูปแบบของการศึกษาทำโดยการสอบถามข้อมูลมารดาหลังคลอดที่หนึ่งปี และมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการสอบถามมารดาหลังคลอดที่หนึ่งปีกับข้อมูลรายงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มารดารายงานไว้ที่สามเดือนพบว่า ข้อมูลที่ได้จากการจดจำของมารดามีความถูกต้องร้อยละ 77.9 (ความไวร้อยละ 98.3 ความจำเพาะร้อยละ 70.0)1 ซึ่งแม้ว่าจะสามารถยอมรับได้ทางสถิติ แต่จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่า “เมื่อเวลาผ่านไป ความถูกต้องของการจดจำจะลดลง ซึ่งควรมีการให้น้ำหนักของข้อมูลที่ได้จากการจดจำลดลงตามระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเมื่อมีการสอบถาม”

เอกสารอ้างอิง

1.        Schneider BC, Cata-Preta BO, Graf DD, et al. Validation of maternal recall on exclusive breastfeeding 12 months after childbirth. Public Health Nutr 2020:1-7.