รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ภาวะลิ้นติดเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีผลทำให้มารดาเกิดการเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนม ทำให้เกิดการเข้าเต้ายาก และส่งผลให้ทารกกินนมได้ไม่ดี จึงทำให้ทารกมีน้ำหนักขึ้นน้อยได้ โดยทั่วไป การวินิจฉัยภาวะลิ้นติดมีวิธีการวินิจฉัยในหลากหลายเกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ของ Hazelbaker เกณฑ์ของ Kotlow เกณฑ์การวินิจฉัยของศิริราช และการใช้เครื่องมือ MEDSWU Tongue-tie director ที่เป็นเครื่องมือที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒได้ทำการพัฒนาเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวกและมั่นใจในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติด นอกจากนี้ มีการศึกษาในประเทศบราซิลที่พยายามจะใช้เครื่องมือวัดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าวัดการทำงานของกล้ามเนื้อ Greater suprahyoid ที่ทำหน้าที่ขณะที่ทารกดูดและกินนมในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติด1 ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า การใช้เครื่องมือวัดการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสามารถทำการวินิจฉัยการจำกัดการเคลื่อนไหวของลิ้นที่จะเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะลิ้นติดได้ อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานและความยุ่งยากในการแปลผลยังอาจเป็นอุปสรรคในการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในคลินิก
เอกสารอ้างอิง
1. Franca ECL, Albuquerque LCA, Martinelli RLC, Goncalves IMF, Souza CB, Barbosa MA. Surface Electromyographic Analysis of the Suprahyoid Muscles in Infants Based on Lingual Frenulum Attachment during Breastfeeding. Int J Environ Res Public Health 2020;17.