ทำไมต้องมีนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในยุคโบราณก่อนกำเนิดสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 250 ล้านปีก่อน สิ่งมีชีวิตจะออกลูกเป็นไข่ ซึ่งจะมีอาหารสำรองอยู่ในไข่แดงที่มีความจำกัด ทำให้ลูกของสิ่งมีชีวิตต้องพยายามมีวิวัฒนาการเพื่อการดำรงชีพให้เร็ว เพื่อเอาตัวรอดจากนักล่าอื่น ๆ หลังจากที่คลอดหรือออกจากไข่  วิวัฒนาการของนมแม่เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดให้ลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลังจากที่อาหารในไข่แดงหมดลงแล้ว แม้ลูกของสิ่งมีชีวิตนั้นจะยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี1 การเกิดขึ้นของวิวัฒนาการของรกที่ถ่ายทอดอาหารจากแม่สู่ลูก และการพัฒนาการในการสร้างต่อมน้ำนมจึงเป็นกลไกรองรับเพื่อให้ลูกของสิ่งมีชีวิตสามารถมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการมีพัฒนาการเพื่อเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่มีผู้ล่าและผู้ถูกล่า

สำหรับต่อมน้ำนมเชื่อว่าวิวัฒนาการมาจากต่อมไขมันหรือต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง กลไกของการหลั่งน้ำมนมจะควบคุมโดยสมดุลของฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งจะส่งผลในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ขณะที่แม่ให้นมลูกจะมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่อยู่บนผิวของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นจึงมีวิวัฒนาการที่จะสร้างให้ลูกของสิ่งมีชีวิตมีภูมิคุ้มกันต้านการติดเชื้อผ่านนมแม่เพื่อช่วยให้ลูกของสิ่งมีชีวิตรอดจากการติดเชื้อ1 โดยวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในลักษณะต่าง ๆ จะช่วยให้แม่ปกป้องลูก และช่วยให้เกิดการดำรงเผ่าพันธุ์ได้ดี เมื่อมาพิจารณาข้อมูลในมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากพื้นฐานเหล่านี้ นมแม่จึงเป็นแหล่งอาหารที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด และมีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านการติดเชื้อที่ถ่ายทอดจากมารดาผ่านการกินนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่มารดาควรให้แก่ทารกทุกราย ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งห้ามในการกินนมแม่เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

1.            Fewtrell MS, Mohd Shukri NH, Wells JCK. ‘Optimising’ breastfeeding: what can we learn from evolutionary, comparative and anthropological aspects of lactation? BMC Med 2020;18:4.