การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่มีอายุมาก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มารดาที่มีอายุมากจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีโรคประจำตัว ซึ่งโรคประจำตัวที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งการที่มารดามีโรคประจำตัวจะทำให้มารดามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้สูงขึ้น โดยระหว่างการตั้งครรภ์มารดาจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร ความพิการของทารก และภาวะครรภ์เป็นพิษสูงขึ้น ผลของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย ทารกแรกเกิดคลอดยากจากทารกแรกเกิดตัวโต โอกาสที่ต้องมีความจำเป็นในการใช้หัตถการในการช่วยคลอด คือ การใช้คีมช่วยคลอดหรือการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น ทำให้โอกาสในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า1,2 ส่งผลเสียต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

                อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญและมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า ดังนั้น การที่มารดามีความตั้งใจ เอาใจใส่ในการวางแผนดูแลโรคประจำตัวให้มีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มโดยได้รับการดูแลระหว่างแพทย์ที่ดูแลโรคประจำตัวของมารดาและสูติแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด ลดการผ่าตัดคลอดและการใช้หัตถการที่ไม่จำเป็น ทำให้การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดเริ่มต้นได้เร็ว ซึ่งจะมีผลดีต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

                ในตัวปัจจัยเรื่องอายุของมารดาที่อายุมากขึ้น จะมีข้อที่เป็นส่วนดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนกัน ได้แก่ มารดามักจะมีความพร้อมทางด้านเศรษฐานะและมีการวางแผนที่ดีสำหรับการตั้งครรภ์และการคลอด มีความรู้ความใส่ใจและทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความเป็นผู้ใหญ่ที่อดทน พยายามและมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในส่วนนี้จะส่งผลดีต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย3 แต่ในส่วนที่ต้องคำนึงถึงไปพร้อม ๆ กันคือ ขณะที่อายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการมีโรคประจำตัวดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น4

เอกสารอ้างอิง

  1. Woldeamanuel BT. Trends and factors associated to early initiation of breastfeeding, exclusive breastfeeding and duration of breastfeeding in Ethiopia: evidence from the Ethiopia Demographic and Health Survey 2016. Int Breastfeed J 2020;15:3.
  2. Taha Z, Ali Hassan A, Wikkeling-Scott L, Papandreou D. Prevalence and Associated Factors of Caesarean Section and its Impact on Early Initiation of Breastfeeding in Abu Dhabi, United Arab Emirates. Nutrients 2019;11.
  3. Hegazi MA, Allebdi M, Almohammadi M, Alnafie A, Al-Hazmi L, Alyoubi S. Factors associated with exclusive breastfeeding in relation to knowledge, attitude and practice of breastfeeding mothers in Rabigh community, Western Saudi Arabia. World J Pediatr 2019;15:601-9.
  4. Alzaheb RA. A Review of the Factors Associated With the Timely Initiation of Breastfeeding and Exclusive Breastfeeding in the Middle East. Clin Med Insights Pediatr 2017;11:1179556517748912.