ช่วงระยะเวลาการนัดติดตามหลังคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การนัดติดตามหลังคลอดนั้น หากมารดาคลอดปกติ แพทย์มักจะนัดตรวจหลังคลอด 6 สัปดาห์ ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางในการนัดมารดาและทารกมาติดตามดูการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แล้วควรมีแนวทางในการนัดติดตามดูการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไร การดูแลมารดาและทารกจะมีการดูแลตามความเสี่ยง เมื่อกำหนดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการทบทวนวรรณกรรมแล้ว เพื่อให้การนัดไม่บ่อยจนเกินไปและสร้างความลำบากในการเดินทางมาโรงพยาบาลของมารดาและทารก การนัดจึงควรนัดอิงตามการดูแลมารดาหลังคลอดคือ ในมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำควรนัดติดตามหลังคลอดที่ 6-8สัปดาห์ สำหรัยมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ การนัดติดตามมารดาและทารกที่ 1 สัปดาห์น่าจะสมเหตุสมผล เพราะน่าจะสามารถช่วยให้คำปรึกษาให้แก่มารดาที่อาจจะพบปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังจากการกลับไปอยู่ที่บ้าน มีการศึกษากลุ่มเปรียบเทียบแบบสุ่มถึงระยะเวลาที่นัดหลังคลอดจะมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยศึกษาในมารดาครรภ์แรก และแบ่งกลุ่มที่นัดทุก 2-3 สัปดาห์และอีกกลุ่มนัดตรวจทุก 6-8 สัปดาห์ โดยทำการติดตามทางโทรศัพท์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนถึง 5-6 เดือนพบว่า ระยะเวลาที่นัดหลังคลอดไม่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 อย่างไรก็ตามในการศึกษานี้ ไม่ได้แยกกลุ่มมารดาออกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์จากการนัดติดตามหลังคลอด ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Abbott JL, Carty JR, Hemman E, Batig AL. Effect of Follow-Up Intervals on Breastfeeding Rates 5-6 Months Postpartum: A Randomized Controlled Trial. Breastfeed Med 2019;14:22-32.