รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โดยปกติที่หอผู้ป่วยหลังคลอดจะมีการจัดเตียงเล็กให้ทารกแรกเกิดนอนโดยที่อยู่ข้างเตียงมารดา พื้นที่สำหรับการจัดเตียงเล็กสำหรับทารก จะใช้พื้นที่น้อยและสามารถใช้พื้นที่ที่ญาติเฝ้าสำหรับวางเตียงได้ ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับการไม่มีที่วางเตียงเล็กจนละเลยประโยชน์ของการให้มารดาและทารกอยู่ร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับทางเลือกอีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดา1,2 แต่ควรระมัดระวังการเกิดทารกพลัดหล่นเตียงหรือมารดาพลิกไปทับทารกในกรณีที่มารดาเหนื่อยล้าจนเกินไป มารดาเป็นมารดาวัยรุ่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีการติดยาเสพติด และควรมีการจัดสภาพเตียงและข้างเตียงให้เหมะสมโดยมีราวกั้นเตียง เก้าอี้ หรืออาจวางเตียงติดกำแพงเพื่อป้องกันทารกตกเตียง หรือมีญาติช่วยดูแลทารกร่วมด้วย การที่มารดาและทารกนอนอยู่ร่วมเตียงเดียวกันจะทำให้การให้นมลูกทำได้บ่อยขึ้น มารดาได้เรียนรู้พฤติกรรมทารกและสามารถพักไปพร้อม ๆ กับทารก
เอกสารอ้างอิง
- McCoy RC, Hunt CE, Lesko SM, et al. Frequency of bed sharing and its relationship to breastfeeding. J Dev Behav Pediatr 2004;25:141-9.
- Tan KL. Factors associated with exclusive breastfeeding among infants under six months of age in peninsular malaysia. Int Breastfeed J 2011;6:2.