การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ควรเริ่มเมื่อไรดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อสามารถทำได้ทันทีเมื่อพร้อมหลังการคลอดและเช็ดตัวทารกให้แห้งแล้ว ทารกไม่จำเป็นต้องอาบน้ำหลังการคลอด1 ควรชะลอการชั่งน้ำหนัก วัดขนาดตัวทารก การให้ยาฆ่าเชื้อป้ายตาทารก การฉีดวิตามินเคและวัคซีนให้กับทารกจนกระทั่งทารกเริ่มการดูดนมครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว การอุ้มทารกมาไว้ที่หน้าอกมารดาทำโดยต้องไม่ห่อตัวทารกและมารดาต้องเปิดเสื้อผ้าในบริเวณที่สัมผัสให้เพียงพอ สำหรับการที่จะคลุมผ้าเพื่อความอบอุ่น จะคลุมทั้งทารกและมารดาไปพร้อมกัน ให้สัมผัสมารดาและทารกเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งคลุมผ้านี้จะคล้ายกับการให้ลูกอย่างในถุงหน้าท้องของจิงโจ้ที่เรียก Kangaroo care ซึ่งหากสามารถให้การสัมผัสเนื้อแนบเนื้ออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมงจะช่วยในการเจริญเติบโตและการกินนมแม่ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย2,3 การที่ทารกได้สัมผัสผิวของมารดาจะช่วยในการพัฒนาการของระบบประสาทสัมผัสและช่วยกลไกออกซิโตซินได้ ขั้นตอนนี้ให้ความสำคัญของการให้ทารกได้สัมผัสกับหน้าอกของมารดาพร้อมกับการสังเกตความพร้อมของทารกในการกินนมแม่ โดยให้ วางทารกให้ผิวสัมผัสแนบชิดกับมารดาทันทีหลังคลอดนานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง” หรือนานกว่านั้น และกระตุ้นให้มารดาสังเกตความพร้อมในการกินนมแม่ของลูก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ควรสังเกตมารดาและทารก และดูแลให้ช่วงเวลานี้ทารกได้ใช้เวลาอยู่บนหน้าอกมารดาอย่างสงบ ปราศจากการรบกวน ร่วมกับอาจเสนอความช่วยเหลือในบางกรณีหากมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

  1. Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
  2. Gathwala G, Singh B, Singh J. Effect of Kangaroo Mother Care on physical growth, breastfeeding and its acceptability. Trop Doct 2010;40:199-202.
  3. Flacking R, Ewald U, Wallin L. Positive effect of kangaroo mother care on long-term breastfeeding in very preterm infants. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2011;40:190-7.