รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของทุกประเทศทั่วโลกจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบร้อยละ 34 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือร้อยละ 50 สำหรับอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2548 พบร้อยละ 5.4 และในปี พ.ศ. 2555 พบร้อยละ 12.3 ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สำคัญคือ การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรก ในประเทศไทยอัตราเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบร้อยละ 43.6 โดยข้อมูลการสำรวจรายภาค พบว่าอัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงพบในภาคใต้สูงสุดร้อยละ 60.9 และพบในภาคกลางต่ำสุดร้อยละ 40.9 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของประเทศไทยพบว่าเกือบต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน มีการศึกษาในเอธิโอเปียที่ยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวต่ำพบว่ามีอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร้อยละ 76.81 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยแล้วอัตราการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยยังต่ำมาก ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมทั้งทางด้านนโยบายและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของอัตราการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
- Abie BM, Goshu YA. Early initiation of breastfeeding and colostrum feeding among mothers of children aged less than 24 months in Debre Tabor, northwest Ethiopia: a cross-sectional study. BMC Res Notes 2019;12:65.