ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากก่อนคลอดถึงหลังคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มารดาที่มีความตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ยาวนานกว่ามารดาที่ขาดความตั้งใจ แต่การที่มารดาจะมีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น มักเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยอาจผ่านการเห็นหรือได้มีประสบการณ์จริง ทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยคิดว่านมแม่เป็นสารอาหารที่ดีที่สุดที่เหมาะสมสำหรับทารกและเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมาะในการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดีของทารก การได้รับการอบรมหรือให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ ความสำคัญและความจำเป็นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ กระแสสังคมยังมีส่วนในการผลักดันให้มารดามีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากสังคมนั้นเป็นสังคมที่มีค่านิยมของนมแม่ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่า ความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในระยะตั้งครรภ์จะลดลงเมื่อสอบถามมารดาอีกครั้งในระยะหลังคลอด โดยพบว่ามารดาในระยะหลังคลอดมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงจากก่อนคลอดเหลือราว 1 ใน 31 สิ่งนี้สะท้อนว่า เมื่อมารดาคลอดแล้ว อาจพบภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของมารดา ได้แก่ การปวดแผล การปวดจากการหดรัดตัวของมดลูก การเจ็บเต้านม การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การขาดใส่ใจหรือให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนในครอบครัว ดังนั้น การลดปัญหาหรืออุปสรรคที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุที่จะลดความตั้งใจของมารดาที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้มารดาประสบความสำเร็จในคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Nelson JM, Li R, Perrine CG, Scanlon KS. Changes in mothers’ intended duration of breastfeeding from the prenatal to neonatal periods. Birth 2018;45:178-83.