แม่ให้นมลูกเข้าฟิตเนตได้ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี และไม่ได้เป็นข้อห้ามในระหว่างการให้นมลูก แต่การเริ่มการออกกำลังกายในมารดาหลังคลอดแต่ละคน อาจเริ่มได้ในระยะเวลาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดว่า มารดาคลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด และระหว่างการคลอดหรือหลังคลอดมารดามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ บ้าง รวมถึงโรคประจำตัวของมารดาในแต่ละคน ก็อาจมีผลต่อรูปแบบหรือวิธีการที่จะเลือกการออกกำลังกายในแบบใดแบบหนึ่ง ในมารดาที่คลอดปกติ การบริหารร่างกายหรือการออกกำลังกายจะเริ่มได้เร็วในราวหนึ่งสัปดาห์เมื่ออาการปวดมดลูกหรืออาการเจ็บแผลบริเวณฝีเย็บลดน้อยลงแล้ว สำหรับในมารดาที่ผ่าตัดคลอด การบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายจะเริ่มได้ช้ากว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มการออกกำลังกายได้เมื่อแผลที่หน้าท้องเริ่มหายและมีความแข็งแรงพอใจ ซึ่งจะราวหนึ่งเดือนหรือหนึ่งเดือนครึ่ง แต่การบริหารร่างกายในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผล มารดาก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่จะออกกำลังกาย ควรบริหารเวลาให้เหมาะสม โดยไม่ออกกำลังกายจนร่างกายเหนื่อยหรือล้าจนเกินไป อ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีผลเสียต่อการให้นมแม่ได้ นอกจากนี้ มารดาควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับการเสียเหงื่อระหว่างการออกกำลังกายด้วย เพื่อให้ร่างกายมารดาไม่ขาดน้ำจนอาจมีผลต่อความเข้มข้นของน้ำนมแม่ อีกเรื่องหนึ่งที่มารดาไม่ควรลืม คือการใส่ชุดชั้นในที่พยุงเต้านมอย่างเหมาะสมระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อไม่ให้เกิดการหย่อนยาน หรือเกิดการรัดแน่นจนเกิดการคั่งหรือขังของน้ำนมจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ในยุคที่สังคมไทยใส่ใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น การมีความรู้เรื่องการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างการให้นมลูก จะส่งเสริมให้มารดามีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิก ซึ่งส่วนหนึ่งมารดาจะได้ประโยชน์จากการที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว

เอกสารอ้างอิง

  1. The Office on Women?s Health. Your guide to breastfeeding. 2017