รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การนัดมารดาและทารกมาติดตามดูแลในช่วงแรกหลังคลอด โดยเฉพาะใน 2-3 วันแรกหลังกลับบ้าน มักจะทำการนัดในมารดาและทารกที่พบมีความเสี่ยงในการที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรก โดยอาจจะมีปัญหาหรือความเสี่ยงจากมารดาหรือทารกที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น มารดามีอาการเจ็บหัวนม มารดามีน้ำนมมาช้า ทารกมีภาวะตัวเหลือง หรือน้ำหนักลดเกินกว่าปกติ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย เป็นต้น มีข้อแนะนำแนวทางการปฏิบัติสำหรับการดูแลมารดาและทารก ดังนี้
??????????????? การประเมินการกินนมแม่
- มารดาให้ทารกกินนมกี่ครั้งใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- ทารกได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อมกี่ครั้งใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- ทารกถ่ายอุจจาระกี่ครั้ง ลักษณะ และสีเป็นอย่างไรใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
- มีความจำเป็นต้องปลุกทารกเพื่อให้กินนมหรือไม่
- ทารกเข้าเต้าได้ง่ายและอยากที่จะดูดนมแม่หรือไม่
- ทารกได้รับอาหารอื่นใดเสริมนอกเหนือจากนมแม่หรือไม่
- มารดาให้นมแม่อย่างไร และรู้สึกอย่างไรในการให้นมแม่
- หากมารดารู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หรือมีอาการเจ็บหัวนมหรือเต้านม ควรจะมีการบันทึกรายละเอียดไว้
- มารดามีน้ำนมเพิ่มขึ้นไหม หากมีเริ่มมีเพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร หากไม่มี ต้องเน้นให้มารดาเห็นความสำคัญของการติดตามเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ทารกน้ำหนักลดเกินค่าปกติ ภาวะขาดน้ำ ภาวะตัวเหลือง เป็นต้น
- มารดาได้รับประทานยาหลังจากกลับบ้านหรือไม่ เช่น ยาลูกกลอน ยาดองเหล้า ยาขับน้ำคาวปลา ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องอธิบายให้มารดาทราบถึงความเสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดจากการกินยาเหล่านี้
- ลักษณะการกินอาหารของมารดาเป็นอย่างไร
- สมาชิกในครอบครัวรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
- The American of Obstetricians and Gynecologist, American Academy of Pediatrics. Breastfeeding handbook for physicians. 2nd edition. 2014.