เมื่อเต้านมคัด…จะทำอย่างไรดี?

 

? ? ? ? ?เต้านมคัดเป็นปัญหาที่คุณแม่ทุกคนต้องประสบพบเจอหลังคลอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวด ไม่สบายตัว มีไข้ และให้นมได้ไม่ดี การแนะนำการปฏิบัติจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใหญ่ในครอบครัวและเพื่อนผู้มีประสบการณ์มีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลายทำให้คุณแม่ยากที่จะตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตัวที่เหมาะสมอย่างไรเพื่อจะทำให้รู้สึกสบายตัวและให้นมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูข้อมูลเรื่องเต้านมกันดีกว่า

? ? ? ? ?เต้านมคัด เกิดจากการคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่มาเลี้ยงเต้านมเพื่อสนับสนุนการสร้างน้ำนมให้มากขึ้นร่วมกับน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จะเกิดขึ้นในช่วง 2-5 วันหลังคลอด เมื่อมีอาการตึงคัดเต้านมแล้ว คุณแม่จะมีอาการตึงปวด ร้อนบริเวณเต้านม อาจพบมีไข้ต่ำๆ มักไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส การที่เต้านมคัดตึงจะทำให้ลานหัวนมตึงแข็ง การเข้าเต้าจะทำได้ไม่ดี และเป็นปัญหาทำให้เจ็บหัวนม หัวนมแตกและส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้1

? ? ? ? ?การป้องกันการคัดเต้านม ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำเกลือและยาออกซีโตซินซึ่งกระตุ้นการหดรัดตัวมดลูกระหว่างระยะคลอดมากเกินไป การให้นมบ่อยๆ ให้นมจนเกลี้ยงเต้าและให้นมแม่ต่อเนื่องในระยะหลังคลอดใหม่2

? ? ? ? ? สำหรับการแก้ปัญหาเต้านมคัดนั้น ใช้การประคบเย็นที่เต้านม ให้ยาลดไข้หรือแก้ปวดและคุณแม่ควรบีบไล่น้ำนมออกจากเต้านมก่อนการเข้าเต้าเพื่อให้ลานหัวนมนุ่มขึ้น3ร่วมกับการให้ลูกดูดนมเพื่อลดปริมาณน้ำนมในเต้านมวันละ 8-12 ครั้ง การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอย่างเข้มงวด จะลดปัญหาอาการเต้านมคัดลงภายใน 1-2 วัน หลังจากนั้นการกระตุ้นน้ำนมทุก 2-3 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้น้ำนมมามากขึ้น มีน้ำนมเพียงพอและหากคุณแม่ตั้งใจการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยหกเดือนก็จะประสบความสำเร็จได้ สำหรับการประคบเย็นเต้านมด้วยใบกระหล่ำปลีแช่แข็งนั้น ข้อมูลเรื่องนี้ประโยชน์ในการลดการเต้านมคัดยังไม่ชัดเจน1 ในส่วนโรงพยาบาลการสนับสนุนให้ลูกดูดนมแม่ ควรจัดให้ลูกได้ดูดนมแม่ภายในครึ่งชั่วโมงหลังคลอด เมื่อเต้านมตึงคัดอาจช่วยโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นพี่เลี้ยงสอนการบีบนมออกจากเต้า ช่วยจัดท่าที่ให้นมที่เหมาะสม ให้คุณแม่รู้สึกสบาย ไม่ปวดเมื่อย เปิดโอกาสให้คุณแม่ได้อย่างกับลูกตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อช่วยสัมผัสที่ดีระหว่างแม่กับลูกและคุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามต้องการ การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากจะช่วยในส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณแม่แล้ว ยังส่งเสริมอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยให้สูงขึ้นได้

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Dis Mon 2008; 54:343-411.
  2. LawrenceRA, LawrenceRM. Breastfeeding: A Guide for the Medical Profession.Philadelphia,PA: Elsevier Mosby, 2005.
  3. CottermanKJ. Reverse pressure softening: a simple tool to prepare areola for easier latching during engorgement. J Hum Lact 2004;20:227-37.

?รูปที่ 1 แสดงเต้านมคัด

 

เต้านมคัด?เต้านมคัด

 

 

 

?รูปที่ 2 แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

แสดงการบีบน้ำนมออกจากเต้านม

 

 

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์