รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ?การตรวจพบเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ในมารดาถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มารดาอาจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้สูงขึ้น โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับชนิดของเบาหวานที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งในมารดาที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดจากการตรวจดูที่จอประสาทตา หรือมีความผิดปกติของค่าการกำจัดของเสียในไตแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดสูง ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยทำให้มารดาเริ่มต้นการให้นมลูกได้ช้า ซึ่งจะส่งผลต่อการมาของน้ำนมที่ช้า โดยหากขาดการกระตุ้นการดูดนมที่สม่ำเสมอด้วย จะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม ในมารดาที่มีเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ในกลุ่มนี้มีการศึกษาว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคและไม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สั้นลง แต่การให้ความรู้ในเรื่องประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กลับมีความสำคัญต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า1 ดังนั้น การใส่ใจกับการให้ความรู้ให้มารดาและครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นที่ต้องให้แก่มารดาและครอบครัว เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ว่ามารดาจะมีเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
- Wallenborn JT, Perera RA, Masho SW. Breastfeeding after Gestational Diabetes: Does Perceived Benefits Mediate the Relationship? J Pregnancy 2017;2017:9581796.