? ? ? ? ? เนื้องอกมดลูกเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาที่พบบ่อย แบ่งเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย และชนิดที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง อาการของเนื้องอกมดลูกขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และชนิดของเนื้องอกมดลูก โดยเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการประจำเดือนผิดปกติ มามาก มากะปริดกะปรอย ปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก รู้สึกท้องโตขึ้น คลำได้ก้อนที่หน้าท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งการตรวจหาเนื้องอกมดลูกนั้น แนะนำให้ทำโดยการตรวจภายในประจำปีเพื่อเป็นการตรวจคัดกรองร่วมกับหากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม
? ? ? ? ? การตรวจสอบเพื่อการวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก อาศัยข้อมูลจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายและการตรวจภายใน สำหรับการตรวจเพิ่มเติมส่วนใหญ่ใช้การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในการวินิจฉัยแยกโรค ช่วยวางแผนการรักษา บอกแนวโน้มชนิดของโรคว่าเป็นเนื้องอกที่มีลักษณะสงสัยเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำผู้ป่วยได้ว่า ควรจะทำการผ่าตัดหรือสามารถเลือกการใช้ยาและติดตามการรักษาได้ ในกรณีที่เลือกการผ่าตัด หากเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย การผ่าตัดอาจจะพิจารณาเลือกการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกออกหรือเลือกผ่าตัดตัวมดลูกออกด้วย แต่ในกรณีที่อายุเกิน 45 ปี การเลือกการผ่าตัดมีแนวโน้มที่จะแนะนำให้ตัดมดลูกพร้อมรังไข่ทั้งสองข้าง เช่นเดียวกันกับกรณีที่สงสัยเนื้อร้าย การผ่าตัดจะพิจารณาตัดมดลูก รังไข่ทั้งสองข้าง และเพิ่มการตัดชิ้นเนื้อบริเวณไขมันในช่องท้องและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดเหล่านี้จะช่วยบอกระยะและการกระจายของโรคในกรณีที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง
? ? ? ? ? ?สำหรับชนิดของเนื้องอกมดลูกชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้ายที่พบบ่อย ได้แก่ เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูกหรือทางการแพทย์เรียก ?ไมโอมา (myoma)? ดังแสดงในรูปที่ 1 และเนื้องอกของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือทางการแพทย์เรียก ?อะดิโนไมโอซีส (adenomyosis)? ดังแสดงในรูปที่ 2 ส่วนเนื้องอกมดลูกที่เป็นเนื้อร้าย ได้แก่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก
? ? ? ? ? ?สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน การป้องกันจึงทำได้ยาก ผู้หญิงเราจึงควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สมส่วนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การสังเกตอาการที่ผิดปกติ ได้แก่ ลักษณะของประจำเดือน การปัสสาวะบ่อยขึ้น การปวดท้องน้อย ร่วมกับการตรวจคัดกรองโดยการตรวจภายในประจำปี ซึ่งจะสามารถคลำตรวจขนาดหรือลักษณะความผิดปกติของตัวมดลูกได้พร้อมกับสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน จะทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น มีผลลัพธ์ในการรักษาดี และส่งเสริมสุขภาวะสตรีให้ดียิ่งขึ้น
รูปที่ 1 แสดงมดลูกที่ผ่าตัดให้มองเห็นเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก
รูปที่ 2 แสดงเนื้องอกของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์