รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในประเทศไทย คนไทยทุกคนจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างน้อยคือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่กำหนดให้บุคคลใด ๆ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลพื้นฐานได้โดยปราศจากข้อจำกัดในด้านค่าใช้จ่าย แต่ยังมีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่ยังมีความเลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกองทุนหรือแหล่งกำเนิดของกองทุนแต่ละกองทุนยังมีความแตกต่างกัน และข้อกำหนดหรือหลักคิดในการจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลอยู่บนรากฐานที่แตกต่างกัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้สิทธิการฝากครรภ์และการคลอดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สิทธิประกันสังคมได้สิทธิเหมาจ่ายในการคลอด 13000 บาทไม่ว่าจะคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน คลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด ซึ่งปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูง และค่าใช้จ่ายก็สูงโดยอาจจะเกินวงเงินที่เหมาจ่ายในการดูแลการคลอดของสิทธิประกันสังคมได้ เมื่อมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลการคลอด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังตัวอย่างการศึกษาเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกา1 ดังนั้น แพทย์ผู้ดูแลควรใส่ใจเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของมารดา เพื่อให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมกับสิทธิการรักษาพยาบาล
เอกสารอ้างอิง
- Mercier RJ, Adeliyi Burcher T, Horowitz R, Wolf A. Differences in Breastfeeding Among Medicaid and Commercially Insured Patients: A Retrospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018.