สังคมไทยยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะหรือยัง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อดั้งเดิมที่ลึก ๆ อยู่ในวัฒนธรรมหรือสังคมไทย เชื่อว่ายังมีความคิดเห็นว่า การให้นมแม่ควรให้ในที่ที่เป็นส่วนตัว และการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่น่าอายหรือน่าตำหนิ ขณะที่ในสังคมประเทศตะวันตกยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ โดยถือว่าการให้นมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งไม่ควรมีการจำกัดการให้นมแม่ ไม่ว่าแม่จะอยู่ในที่สาธารณะหรือไม่ ซึ่งการที่สังคมยอมรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในที่สาธารณะจะเป็นเหมือนการเปิดโอกาสที่จะให้อิสระแก่มารดาที่จะสามารถที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำ เช่น การไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า การไปกินอาหารนอกบ้าน การขึ้นรถประจำทางหรือรถไฟฟ้า โดยไม่ต้องเกิดความวิตกกังวล หรือความเครียดจากการจ้องมองอย่างตำหนิขณะที่มารดาให้นมลูก ซึ่งความรู้สึกกังวลใจและไม่ปลอดภัยในการให้นมลูกในที่สาธารณะนี้ จะมีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1

แม้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับการให้นมลูกว่าควรเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หากลองดูความคิดเห็นของประชาชนในประเทศจีนที่เป็นประเทศในแถบเอเชียเหมือนกันจากการสำรวจออนไลน์จำนวน 2021 รายพบว่า ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าการให้นมแม่ในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่เหมาะสมและไม่ถือว่าเป็นการผิดขนบธรรมเนียมใด ๆ 2 สำหรับการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยมีการรณรงค์ในทั้งสองทางคือ ส่วนหนึ่งเริ่มมีการให้ข่าวสารในสังคมเพื่อให้เกิดการยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะ กับอีกหนึ่งสร้างหรือสนับสนุนให้มารดามีสถานที่ให้นมแม่ในที่สาธารณะ เช่น มีมุมนมแม่ในสวนสาธารณะและห้างสรรพสินค้า กับเสนอวิธีที่จะลดความรู้สึกวิตกกังวลในการให้นมแม่ในที่สาธารณะ ได้แก่ มีการใช้เสื้อหรือมีผ้าคลุมสำหรับการให้นมแม่ อย่างไรก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับการให้นมแม่ในที่สาธารณะก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “สังคมไทยยอมรับการให้นมแม่ในที่สาธารณะแล้วหรือยัง”

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Scott JA, Mostyn T. Women’s experiences of breastfeeding in a bottle-feeding culture. J Hum Lact 2003;19:270-7.
  2. Zhao Y, Ouyang YQ, Redding SR. Attitudes of Chinese Adults to Breastfeeding in Public: A Web-Based Survey. Breastfeed Med 2017;12:316-21.