รูปแบบการดูแลการคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                กระบวนการตั้งแต่การดูแลครรภ์ จนกระทั่งมารดาคลอด และการดูแลมารดาหลังคลอดล้วนมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งบุคลาการทางการแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานพยาบาล1 โดยนับตั้งแต่มารดาเริ่มตั้งครรภ์และเริ่มมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ควรมีการให้ความรู้เรื่องประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวรวมถึงบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ปู่ย่า ตายาย ในระหว่างการฝากครรภ์ มารดาควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจเต้านมเพื่อดูความพร้อมในการให้นมแม่และความผิดปกติที่อาจพบในระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อมารดามีการตั้งครรภ์ครบกำหนดและเข้าสู่การคลอด การมีบุคลากรที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพื่อช่วยชี้แนะแนวทาง ให้กำลังใจ และให้คำปรึกษากรณีที่มารดามีปัญหาหรืออุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลการคลอดควรพิจารณาตามความเสี่ยงของมารดา หากมีความเสี่ยงต่ำอาจไม่มีความจำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารในระหว่างการรอคลอดในช่วงแรกเพื่อไม่ให้มารดาอ่อนเพลียหรือเกิดภาวะเครียดในระหว่างการรอคลอด ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นซึ่งพบเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด ควรเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการสอนมารดาจัดท่าให้นมลูกอย่างเหมาะสมรวมทั้งการสอนมารดาบีบน้ำนมด้วยมือ กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญเมื่อต้องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Simon JA, Carabetta M, Rieth EF, Barnett KM. Perioperative Care of the Breastfeeding Patient. AORN J 2018;107:465-74.