มารดาที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ปัจจุบันอายุของคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันมีแนวโน้มที่จะมีอายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาเรื่องการมีบุตรยากก็พบเพิ่มขึ้น แนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็เพิ่มขึ้นตามมา เป็นที่ทราบกันดีว่า การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แม้พยายามจะใช้กลไกที่เลียนแบบธรรมชาติ แต่การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการเทคโนโลยีที่ช่วยเหล่านี้พบมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดเพิ่มขึ้น เริ่มจากอัตราการแท้ง อัตราการคลอดก่อนกำหนด อัตราการเกิดครรภ์แฝด อัตราการผ่าตัดคลอด และการตกเลือดหลังคลอดที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สืบเนื่องต่อจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนั้น ภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดจึงส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำให้มารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า หรือทารกต้องย้ายไปอยู่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต ทำให้ต้องมีการแยกทารกจากมารดา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งส่งผลทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดากลุ่มนี้ต่ำ1 การคัดกรองมารดาในกลุ่มนี้โดยจัดเป็นกลุ่มเสื่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร จัดการให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด จะช่วยให้มารดาผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้โดยทารกมีโอกาสได้กินนมแม่สูงขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Barrera CM, Kawwass JF, Boulet SL, Nelson JM, Perrine CG. Fertility treatment use and breastfeeding outcomes. Am J Obstet Gynecol 2019;220:261 e1- e7.