รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในระหว่างที่มารดาให้นมลูก แม้ว่าในช่วงหกเดือนแรก หากมารดาให้นมแม่อย่างเดียว และมารดายังไม่มีประจำเดือนมา การให้นมลูกนั้นก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย ดังนั้น หากมีคำถามว่า มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุมกำเนิดได้หรือไม่ คำตอบย่อมแน่นอนว่า “ได้” ประเด็นทีสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ การที่ต้องมีความรู้ในการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดในช่วงที่มารดามีการให้นมลูกอย่างเหมาะสม ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
- การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวม ในระยะแรกหลังคลอดจะมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากการคลอดรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดหลั่งของน้ำนม ดังนั้นเมื่อมีการใช้ฮอร์โมนในระยะแรกหลังคลอดจึงกระทบต่อกระบวนการนี้ การเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโดยใช้ในระยะแรกหลังคลอดโดยเฉพาะในระยะที่มารดายังอยู่ที่โรงพยาบาลก่อนการอนุญาตให้กลับบ้านอาจส่งผลต่อการสร้างปริมาณน้ำนมได้1,2
- การใช้ยาฉีดคุมกำเนิดและยาฝังคุมกำเนิสามารถใช้ได้โดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การใช้ห่วงอนามัยทั้งชนิดที่ไม่มีฮอร์โมนและมีฮอร์โมนสามารถจะใช้ได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดหรือในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดโดยไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่3
- การให้สามีใช้ถุงยางอนามัย ไม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การคุมกำเนิดหลังคลอดมักเริ่มหลังจากการนัดติดตามหลังคลอดในช่วง 4-6 สัปดาห์ แต่ในสภาวะที่มารดามีความเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องรีบให้การคุมกำเนิด และในมารดาที่การนัดติดตามดูแลหลังคลอดทำได้ยากลำบากหรือมารดาอาจไม่ให้ความร่วมมือ การให้การคุมกำเนิดอาจเริ่มตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน ควรเป็นทางเลือกแรก หากไม่สามารถทำได้ ควรการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนหลังจากที่น้ำนมมารดามาดีแล้ว เนื่องจากจะมีผลกระทบน้อยมาก
เอกสารอ้างอิง
- Kapp N, Curtis KM. Combined oral contraceptive use among breastfeeding women: a systematic review. Contraception 2010;82:10-6.
- Kapp N, Curtis K, Nanda K. Progestogen-only contraceptive use among breastfeeding women: a systematic review. Contraception 2010;82:17-37.
- Stanton TA, Blumenthal PD. Postpartum hormonal contraception in breastfeeding women. Curr Opin Obstet Gynecol 2019.